หมอธีระวัฒน์ชี้กินผักช่วยให้กระดูกแข็งแรง ต้องทำอย่างไร เช็คที่นี่

13 มิ.ย. 2566 | 20:26 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2566 | 20:27 น.

หมอธีระวัฒน์ชี้กินผักช่วยให้กระดูกแข็งแรง ต้องทำอย่างไร เช็คที่นี่มีคำตอบ หลังวิถีชีวิตแบบวีแกน แบบเวจจี้ เป็นวิถีใหม่ที่เป็นที่นิยมทั้งโลก ชี้มีผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสเฟซบุก๊ส่วนตัว (ธีระวัฒน์เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความเกี่ยวกับการกินผัก ว่า 

กินผักก็กระดูกแข็งแรงได้

หมอธีระวัฒน์ บอกว่า วิถีชีวิตแบบวีแกน (vegan) แบบเวจจี้ (vege หรือ vegetarian) จัดเป็นวิถีใหม่ที่เป็นที่นิยมทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นด้วยความดีงามของการสร้างเสริมสุขภาพ และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เบียดเบียนชีวิตไม่ว่าสัตว์ใหญ่หรือสัตว์เล็ก

จนแนวโน้มในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจาก 1% ในปี 2014 เป็น 6% ในปี 2017 และในยุโรปก็เช่นกัน โดยมีผลิตภัณฑ์วีแกนเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าจากปี 2016 จนกระทั่งถึงปี 2019

นอกจากนั้นสำหรับคนที่ยังเสพติด ยังชอบติดใจ รสชาติของเนื้อ ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืช ถั่วธัญพืช ที่ปรุงให้มีรส มีความละเอียดของเนื้อ คล้ายคลึงกับที่ได้จากเนื้อสัตว์ เป็น plant based food และดูหน้าตาเป็นไส้กรอก เบคอน แฮมเบอร์เกอร์ ส่วนมะกะโรนีหรือเส้นสปาเกตตีนั้นทำจากไข่ขาว รสชาติคงเดิม

หมอธีระวัฒน์ บอกอีกว่า ผู้ที่กินผักเป็นหลักดูเหมือนว่าจะมีข้อด้อยกว่าคนที่กินทุกอย่าง ทั้งเนื้อ ทั้งพืชผักในเรื่องของความแข็งแรงของกระดูก โดยที่มีกระดูกหักและมีความหนาแน่นของกระดูกน้อยกว่า แม้ว่าจะมีภาษีดีกว่าตรงที่สุขภาพองค์รวม ทั้งเส้นเลือด หัวใจสมอง ดีกว่า แม้กระทั่งลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง

อย่างไรก็ดี การศึกษาที่ผ่านมาพบว่าคนที่กินผักเป็นหลักนั้นมีความบกพร่องในโครงสร้างของกระดูกเมื่อเจาะลึกลงไปถึงระดับไมโครหรือจุลภาค (bone micro architecture) เมื่อเทียบกับคนที่กินทุกอย่าง แต่ก็ยังขาดข้อมูลที่สำคัญในเรื่องวิธีและกระบวนการในการออกกำลังว่าจะส่งผลในการปิดข้อเสียเปรียบเหล่านี้หรือไม่

ทั้งนี้ เป็นการศึกษาจากคณะทำงานในออสเตรียและรายงานในวารสาร clinical endocrinology and metabolism วันที่ 4 สิงหาคม 2022 โดยพบว่าการฝึกออกกำลังแบบ strength training หรือ resistance training สามารถทำให้กระดูกแข็งแรงสมบูรณ์ขึ้นมาได้

การออกกำลังกายแบบแรงต้าน resis tance training เป็นการออกกำลังกายทุกรูปแบบที่ใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย ออกแรงต้านกับน้ำหนักหรือแรงโน้มถ่วง ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักของตนเอง ไปจนถึงน้ำหนักของอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่ดัมเบลไปจนถึงเครื่องเล่นฟิตเนสต่างๆเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

สำหรับการออกกำลังกายโดยใช้น้ำหนัก (strength training) จัดเป็นประเภทหนึ่งของการออกกำลังกายแบบแรงต้าน แต่จะเน้นด้วยการใช้น้ำหนักมากๆในจำนวนครั้งที่น้อยกว่า (ที่มา men.kapook) และจะทำท่าวิดพื้น ฝึกกล้ามเนื้อหลัง ฝึกกล้ามเนื้อหัวไหล่ และกล้ามเนื้อท้องด้วยการซิทอัพก็ได้ (ข้อมูลคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)

การศึกษานี้ ประกอบไปด้วยอาสาสมัคร 88 คนด้วยกันและมีการตรวจโครงสร้างของกระดูกในระดับไมโครซึ่งเป็นการวิเคราะห์ที่ดีที่สุดโดยการใช้คอมพิวเตอร์ซีที high- resolution peripheral quantitative computed tomog raphy (HR-pQCT) 43 คนกินผักและ 45 คนนั้นกินทุกอย่างโดยมีผู้ชาย

และผู้หญิงในจำนวนเท่ากัน ทั้งนี้ทั้งสองกลุ่มนั้นจะต้องมีประวัติกินผักหรือกินทุกอย่างต่อเนื่องกันมาอย่างน้อยห้าปีไม่ผอมหรือไม่อ้วนไป โดยมีดัชนีมวลกายอยู่ที่ 18.5 ถึง 30 และอายุระหว่าง 30 ถึง 50 ปี โดยผู้หญิงยังไม่หมดประจำเดือน

การวิเคราะห์โครงสร้างของกระดูกอย่างละเอียดโดยรวม ปรากฏว่า กลุ่มกินผักมีความด้อยกว่ากลุ่มกินทุกอย่าง ในโครงสร้างของกระดูก เจ็ดใน 14 ของรายการวิเคราะห์ (BMI adjusted trabecular and cortical structure)

และในกลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ ทั้งสองกลุ่มที่ไม่เคยมีการออกกำลังแบบแรงต้านเลยนั้น คนที่กินแต่ผักจะยิ่งมีความไม่สมบูรณ์ของโครงสร้างกระดูกมากกว่า ทั้ง radius trabecular BMD และ bone volume fraction ตลอดจน tibial และ cortical bone micro architecture เมื่อเทียบกับกลุ่มกินทุกอย่าง

แต่ปรากฏว่า เมื่อเปรียบเทียบทั้งสองกลุ่มที่ออกกำลังแบบเดียวกันจะไม่พบมีความแตกต่างของโครงสร้างของกระดูกใดๆเลย โดยที่ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนจากสารอาหารที่บริโภค

หมอธีระวัฒน์ บอกอีกด้วยว่า ข้อสรุปอีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ การออกกำลังกายแบบอื่น เช่น แอโรบิก ขี่จักรยาน จะไม่เพียงพอในการคงความสมบูรณ์ในโครงสร้างของกระดูกเมื่อเทียบเท่ากับการออกกำลังแบบแรงต้าน

ซึ่งอาจจะอธิบายว่าการที่มีแรงต้านจะเป็นการกระตุ้นกลไกที่สำคัญในการสร้างกระดูกหรือที่เรียกทางวิชาการว่า Mechano- transduction

และยังมีรายงานอีกว่าในกลุ่มหนุ่มสาวที่เป็นนักวิ่งนั้นการเพิ่มการออกกำลังกายแบบแรงต้านแค่อาทิตย์ละครั้งจะสามารถสร้างเสริมความหนาแน่นของกระดูกให้เพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น กลุ่มที่กินผักเป็นหลัก ไม่ว่า vegetarian หรือ vege ที่ยังทานนม ชีส ไข่ได้ vegan ที่ไม่ทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และ plant based. น่าจะเสริมจากการออกกำลังตามปกติ ด้วยการออกกำลังโดยใช้แรงต้านอย่างน้อยอาทิตย์ละสองครั้งด้วย จะทำให้มีความสมบูรณ์ในร่างกายจนกระทั่งถึงระบบกระดูกด้วย