หมอธีระเปิดแผล 3 เรื่องใหญ่สังคมไทยหลังกรณีหมอลาออกจากราชการ

06 มิ.ย. 2566 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2566 | 10:40 น.
1.1 k

หมอธีระเปิดแผล 3 เรื่องใหญ่สังคมไทยหลังกรณีหมอลาออกจากราชการ ชี้จะรุนแรงขึ้นในอนาคต ระบุสิ่งที่จัดการได้มีเพียงต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ให้สามารถอยู่รอดได้ ทำงานไปได้อย่างมีความสุข

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ โดยมีข้อความระบุถึงปัญหาของระบบการแพทย์ไทย ว่า

กรณีศึกษาล่าสุดของน้องหมอที่ลาออกจากราชการ สะท้อนปัญหาสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน และจะรุนแรงขึ้นในอนาคต

  • ปัญหาเชิงระบบ ได้แก่ ระบบราชการที่เน้นอำนาจบนลงล่างในทุกระดับ ทำให้ไม่เหมาะกับยุคที่คนต้องการอิสระทางความคิด การทำงาน และความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังเป็นระบบงานที่ไม่เอื้อต่อสมดุลชีวิต มีงานที่ไม่จำเป็น เช่น งานเอกสารจากการสั่งการนโยบายต่างๆ ถาโถมเข้ามาสู่ระดับปฏิบัติการ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีสวัสดิภาพและประสิทธิภาพ
  • ปัญหาของคนในสังคมไทย ที่หลงใหลได้ปลื้มกับความสุขสบายหรูหราฟู่ฟ่า และคลั่งไคล้ระบบทุนนิยมตะวันตก จึงอยากได้ อยากมี ความเป็นมาตรฐานระดับโลก มองการรักษาพยาบาลแบบซื้อขายสินค้าหรือบริการ ไม่เตรียมใจรับกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ในกระบวนการตรวจรักษา ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากปัญหาเชิงระบบที่มีหน่วยงานหลายต่อหลายแห่งพยายามประชาสัมพันธ์ สร้างแบรนด์มาตรฐานโรงพยาบาล ซึ่งแทนที่จะเกิดผลดี กลับเกิดผลเสีย เพราะทำให้คนเข้าใจกันผิดว่ามาตรฐานแปลว่าต้องไม่มีความผิดพลาด
     
  • ปัญหาของคนที่มาเรียนจนจบเป็นแพทย์ เป็นปัญหาตั้งแต่คนที่เข้ามาเรียนแพทย์ ที่หากรู้อยู่ว่าไม่อยากเรียน ก็ไม่ควรฝืนเรียน เพราะไม่มีแรงใจตั้งแต่ต้น แต่หากอยากเรียน จะด้วยเพราะอยากรู้จักชีวิตและร่างกายคน อยากดูแลคน อยากรักษาคนให้หายจากเจ็บป่วย อยากเห็นคนพ้นทุกข์ แม้จะไม่เก่ง ก็สามารถฝึกให้เก่งได้ เวลาทำงานก็จะมีความสุข

หมอธีระ บอกว่า หากพิจารณาให้ดี จะพบว่า ไม่ว่าจะกรณีนี้หรือกรณีอื่นในอดีต น้องไม่ได้รับการเพาะบ่มให้มีภูมิต้านทานในชีวิตอย่างเพียงพอ ทำให้เวลาออกไปทำงานเจอปัญหาต่างๆ ก็ไม่สามารถปฏิบัติตนให้ทำงานอย่างมีความสุขได้ จะตำหนิน้องก็ไม่ได้ เพราะผมเองก็เคยเป็น และเจอโน่นนี่นั่นซึ่งเป็นเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตมาไม่น้อย ตัดสินใจผิดพลาดในชีวิตหลายต่อหลายครั้ง แต่สุดท้ายผ่านพ้นมาได้เพราะพระคุณของครอบครัวที่ให้กำลังใจ สนับสนุน และอดทน

สำหรับสิ่งที่เป็นปัญหาของกรณีนี้คือ การที่มีเมตตากรุณามากเกินไปจนทำร้ายตนเองทั้งกายและใจ การมีเมตตาและกรุณานั้นดี แต่ต้องเดินด้วยทางสายกลาง ช่วยในสิ่งที่พอทำได้และไม่ทำร้ายร่างกายและจิตใจตนเองจนเกินไป

หากย้อนกลับไปได้ อยากบอกน้องหมอว่า ระบบนั้นไม่ล่มสลายง่ายๆ ขาดตัวเราไป ก็จะมีคนมาแทน แต่จะดีเท่าเราหรือเปล่านั้นไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆ คือไม่ค่อยมีคนมาเสียใจหรือใส่ใจกับการอยู่ของเรา แต่ครอบครัวและคนที่เรารักนั้นต้องการเรามากกว่า หากเป็นอะไรไป เค้าจะเสียใจที่สุด 
 

ดังนั้นต่อให้งานเยอะแค่ไหน ก็ต้องมีลิมิต รู้ว่าเวลาไหนควรกินข้าวก็ต้องกิน ไม่ใช่ฝืนไม่กินแล้วเจ็บป่วยไม่สบาย จะกลายเป็นเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย

ยามไม่สบาย เช่น แผลที่ตา เรียนมาก็รู้ว่าเป็นโรคที่ต้องรีบรักษา ต่อให้ระบบโรงพยาบาลจะมีงานเยอะแค่ไหน นี่คือสิ่งจำเป็นเร่งด่วน ต้องไปรักษาตัวเองก่อน ไม่ใช่ไปรักษาคนอื่นแล้วตนเองตาบอดหรือตาเป็นแผลเป็นตลอดไป กรณีแบบนี้ "ต้องยอมทิ้งงาน" และรักตัวเองก่อน

เฉกเช่นเดียวกัน หากคนไข้เยอะเกินกว่าคนในโรงพยาบาลจะรับไหวในระยะยาว ก็ต้องตัดสินใจกำหนดกฎเกณฑ์ของการให้การดูแลรักษาที่ทำได้จริง และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพตามทรัพยากรจริงที่มี หากฝืนทำไปแบบเตี้ยอุ้มค่อม ปัญหาความผิดพลาดก็จะเพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ และมีการฟ้องร้องตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนในสังคมจะได้รับทราบ และปรับตัว ไปรับการดูแลรักษาที่อื่นหากทำได้ หรือปฏิบัติตนในแนวทางอื่นๆ อันสมควรแก่อัตภาพ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา...

พรหมวิหาร 4 เป็นแนวธรรมปฏิบัติเพื่อปกครองและอยู่ร่วมกับผู้อื่น ประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ ได้แก่

  • เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า
  • กรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์
  • มุทิตา คือ ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง ประกอบด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป
  • อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตาชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน

การใช้ชีวิตของน้องหมอในปัจจุบันและในอนาคตนั้น จำเป็นต้องระลึกถึงปัญหา ทั้งจากระบบ จากคนในสังคม และจากตัวเรา คนอื่นๆ ทั้งนักบริหาร หรือคนในสังคม เค้าไม่มาแยแสอย่างที่เราอยากให้เค้าทำหรอก เพราะเราไม่ใช่ครอบครัวหรือคนที่เค้ารักจริง เวลามีสื่อหรือใครไปบีบให้เค้าแก้ปัญหา อย่างมากก็ออกมาแก้เกี้ยวไปวันสองวัน จากนั้นก็เหมือนเดิม