เปิดปัญหาระบบการแพทย์ไทย วิธีแก้ไขในมุมมองหมอสันต์ต่อรัฐบาล

06 มิ.ย. 2566 | 08:17 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2566 | 08:17 น.

เปิดปัญหาระบบการแพทย์ไทย วิธีแก้ไขในมุมมองหมอสันต์ต่อรัฐบาล ชี้เป็นเรื่องซ้ำซากจนเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ระบุระบบการแพทย์กำลังไปผิดทาง หลังมุ่งการรักษาพยาบาลที่ใช้ยา เทคโนโลยีที่ต้องซื้อต่างชาติ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ เขียนบทความที่สะท้อนถึงปัญหาทางด้านการแพทย์ไทย โดยระบุว่าเป็นการเขียนจดหมายถึงรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีข้อความว่า

ประเด็นที่ร้องมีประเด็นเดียวซ้ำซากจนเป็นแผ่นเสียงตกร่องไปแล้ว คือระบบการแพทย์และสาธารณสุขของชาติกำลังไปผิดทางตรงที่เรามุ่งไปสู่การรักษาพยาบาลที่ใช้ยาและเทคโนโลยีซึ่งต้องซื้อฝรั่งเขามาและมันก็ใช่ว่าจะได้ผลกับโรคสมัยใหม่ที่เราเป็น 

เราต้องเลิกเดินในทิศทางนั้น กลับหลังหันมาเดินในทิศทางการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยการสนับสนุนให้ประชาชนมีศักยภาพในการสร้างเสริมสุขภาพของตัวเองได้ 

จัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพด้วยตัวเองได้ หากเราไม่รีบลงมือแก้เสียเดี๋ยวนี้ ระบบปัจจุบันนี้จะพาเราไปสู่ความ (ขอโทษ)..ฉิบหาย

ส่วนประเด็นย่อยสำคัญที่หมอสันต์จะร้อง ประกอบด้วย 

  • ต้องย้ายโฟกัสจากดูแลสุขภาพที่เอาโรงพยาบาลเป็นฐาน ไปสู่การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เอาศักยภาพที่จะดูแลตนเองของประชาชนที่บ้านเป็นฐาน โดยกำหนดเป็นนโยบายอย่างตรงๆ โต้งๆ และอย่างเป็นวาระแห่งชาติ และโดยกำหนดเจตนาอันแรงกล้าว่าเราจะทุ่มทรัพยากรทั้งหมดไปที่ตรงนี้ จะใช้กลไกที่มีทั้งหมดเพื่อการนี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งกลไกภาษี
     
  • ต้องย้ายโฟกัสจากการแพทย์แบบเอาโรคเป็นศูนย์กลางโดยอิงหลักฐาน (evidence based, disease centered, medicine) มาเป็นการแพทย์แบบองค์รวม (holistic medicine) โดยอิงศักยภาพในการดูแลตัวเองของประชาชน

การแพทย์แบบอิงหลักฐานนั้น แท้จริงแล้วมันเป็นการแพทย์แบบอิงการเบิกจ่าย (reimbursement based medicine) คืออะไรที่เบิกได้ แพทย์ก็จะทำ 

และสิ่งที่เรียกว่าหลักฐาน (evidence) นั้นมีข้อดีอยู่มากก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็มีด้านมืดของมันเอง 

กล่าวคือหลักฐานมากกว่าครึ่งหนึ่งมันเกิดจากการลงทุนผลิตหลักฐานขึ้นมาโดยผู้ค้ายาและผู้ค้าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เมื่อผู้ค้าเหล่านั้น “ใช้” ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้แทนขาย โดยมีหลักฐานวิทยาศาสตร์เป็นโบรชัวร์ประกอบการขาย 

ระบบก็ถูกมัดมือชกให้จัดสินค้าเหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่เบิกจ่ายได้ 

ผลก็คือเราเสียเงินมาก แต่สิ่งที่ได้กลับมาในรูปของสุขภาพของประชาชนในภาพรวมกลับน้อย

การแพทย์แบบเอาโรคเป็นศูนย์กลางต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขามากมายยิบย่อย ผู้เชี่ยวชาญออกแบบกระบวนการผลิตได้ลึกซึ้งเฉพาะในขอบเขตความชำนาญของตนแต่มองไม่เห็นภาพรวมของปัญหา เช่นอายุรแพทย์หัวใจแบบรุกล้ำ (invasive cardiologist) สามารถออกแบบกระบวนการตรวจสวนหัวใจใส่บอลลูนขยายหลอดเลือดที่ดีที่สุดให้ได้ 
แต่เมื่อเราทำตามสิ่งที่เกิดขึ้นคือเราได้กระบวนการผลิตที่ใช้เงินมากแต่มีผลิตภาพโดยรวมต่ำ 

ยกตัวอย่างเช่น สปสช.ตั้งใจจะควบคุมโรคหัวใจจึงให้ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจมาออกแบบระบบ แต่สิ่งที่ได้มาคือศูนย์รักษาโรคหัวใจในต่าง จังหวัดเป็นสิบๆแห่ง สร้างตึก ซื้อเครื่องมือ ทุกแห่งทำบอลลูนใส่สะเต้นท์ให้คนไข้ฟรีหมด ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจห้องล่างสองห้องได้ฟรี 

แต่ละเคสต้นทุนหลายแสนทั้งนั้น ทั้งหมดนี้ใช้เงินจำนวนมหาศาล แต่หลักฐานวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่ามันลดจุดจบที่เลวร้ายและอัตราตายของโรคหัวใจลงได้น้อยมากหรือแทบไม่ได้เลย ขณะที่อุบัติการณ์ของโรคก็เพิ่มเอาๆ

  • จำเป็นต้องรีบใช้ประโยชน์จาก รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ที่ตั้งขึ้นมาแล้วให้เต็มที่ เราตั้งรพ.สต.มาแล้ว 14 ปี เราผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นได้ถึงปีละ 2,000 คน แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีแพทย์ไปประจำรพ.สต. แสดงว่าเรายังฝังหัวในคติเดิมว่าเราสอนแพทย์มาให้ทำแต่งานรักษาโรค ไม่ได้สอนมาให้ทำงานส่งเสริมสุขภาพเพื่อไม่ให้เกิดโรค

หมอสันต์ บอกว่า ไม่สำคัญหรอกดอกว่าจะให้รพ.สต.อยู่กับกระทรวงสธ.หรืออยู่กับรัฐบาลท้องถิ่น เพราะไม่ว่าจะอยู่กับใคร รพ.สต.จะเดินหน้าได้ก็ต้องได้การสนับสนุนจริงจังจากรัฐบาลกลางอยู่ดี

  • ระบบการสอนสุขศึกษาและพลศึกษาในโรงเรียนจะต้องเปลี่ยน หากยังเปลี่ยนเนื้อหาหรือเปลี่ยนหนังสืออ่านประกอบไม่ได้ก็ยังไม่เป็นไร เพราะอดีตสอนเราว่าแม้มีหนังสือสุขศึกษาที่มีเนื้อหาดีเลิศและเด็กท่องจำสุขบัญญัติสิบประการได้ขึ้นใจ แต่ศักยภาพในการจะดูแลสุขภาพตัวเองของนักเรียนแทบไม่มีเลย 

ดังนั้นหากการเปลี่ยนเนื้อหาวิชามันยากจะเอาไว้ก่อนก็ได้ แต่ขอให้เปลี่ยนการจัดประสบการณ์เรียนรู้และสร้างทักษะในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียด 

ทักษะหมายถึงการได้ลงมือปฏิบัติ เช่นทักษะอาหารก็เกิดจากการได้ลงมือกินอาหารที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี นั่นหมายความว่าระบบอาหารของโรงเรียนจะต้องเปลี่ยน อะไรจะวางให้เด็กกินเป็นมื้อกลางวันในโรงเรียนและรอบรั้วโรงเรียนต้องเปลี่ยน เพราะถ้าไม่ได้กินอาหารสุขภาพที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีแล้วจะเกิดทักษะทางอาหารได้อย่างไร เป็นต้น

ทั้ง 4 ประการนี้คือ 

  • เลิกเอาโรงพยาบาลเป็นฐาน เอาตัวประชาชนที่บ้านเป็นฐานในการสร้างเสริมสุขภาพแทน 
  • เปลี่ยนวิธีดูแลสุขภาพจากการเอาโรคเป็นศูนย์กลางเป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม 
  • ใช้รพ.สต.จริงจังและเปลี่ยนวิธีผลิตแพทย์ให้ไปทำงานรพ.สต.ได้ 
  • ปรับสุขศึกษาพลศึกษาในโรงเรียนเน้นการสร้างทักษะสุขภาพ 

เป็นคำร้องเรียนของหมอสันต์ต่อรัฐบาลใหม่ที่จะมา จะได้ผลประการใดนั้นหมอสันต์เองก็ไม่ทราบ แต่ร้องเรียนเพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ของหมออาชีพ เกิดมามีอาชีพนี้ ทำหน้าที่นี้มาร่วมห้าสิบปี มองเห็นภัยพิบัติในเรื่องนี้ว่ากำลังเกิดขึ้นขณะที่คนอื่นยังมองไม่เห็น ก็ต้องร้องให้คนอื่นมองเห็น เขาได้ยินแล้วจะเก็ทหรือไม่เก็ทจะทำหรือไม่ทำ นั่นเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่แล้ว