โรค PTSD คืออะไร อาการเป็นยังไง อันตรายแค่ไหน เช็คที่นี่

24 พ.ค. 2566 | 10:44 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2566 | 10:44 น.
568

โรค PTSD คืออะไร อาการเป็นยังไง อันตรายแค่ไหน เช็คที่นี่ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมมัดรวมไว้ให้แล้ว หลังผู้ป่วยเผยเรื่องราวสุดสะเทือนใจ และมีความต้องการให้พรรคก้าวไกลแก้ไขกฏหมายเกี่ยวกับการข่มขืน

โรค PTSD คืออะไร กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลงจากที่มีหญิงสาวรายหนึ่งออกมาเปิดเผยเรื่องราวสะเทือนใจ จนทำให้ตัวเธอต้องกลายเป็นโรคดังกล่าว

และมีความต้องการให้พรรคก้าวไกลให้พรรคก้าวไกล ออกมาแก้ไขกฎหมายข่มขืน ไม่ควรถูกลดโทษ เพราะเป็นสิ่งที่คิดมาแล้วว่าจะก่อเหตุ และผลกระทบก็มาตกอยู่ที่ผู้เสียหาย โดยมองว่ากฏหมายปัจจุบันอ่อนเกินไป

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ"  เพื่อไขข้อสงสัยเกี่ยวกับโรค PTSD พบว่า

โรค PTSD ย่อมากจาก Post-traumatic Stress Disorder หรือ ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังพบเหตุการณ์ความรุนแรง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม คือเกิดขึ้นกับผู้ที่ประสบพบเหตุร้ายด้วยตัวเอง 

หรือเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์และเห็นเหตุการณ์สะเทือนใจนั้นโดยตรง หรือเป็นญาติใกล้ชิดกับผู้ประสบเหตุและได้รับรู้รายละเอียดข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนเกิดความเครียดและมีพฤติกรรมบางอย่างที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตตามมา ซึ่งผู้ที่ได้รับบาดแผลทางจิตใจจากเหตุเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษา

อาการเข้าข่าย PTSD 

  • อาการในช่วงแรกประมาณ 1 เดือน เราจะเรียกว่าระยะทำใจ (Acute Stress Disorder) หรืออาการเครียดเฉียบพลัน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการเครียดแล้วเกิดอาการทางประสาทขึ้นมาได้
  • ระยะที่สอง (PTSD: Post-Traumatic Stress Disorder) คือ กินระยะเวลานานมากกว่า 1 เดือน บางคนอาจจะยาวนานหลายเดือน หรือนานเป็นปีแล้วแต่บุคคล

โดยมีลักษณะอาการสำคัญ 4 อย่าง คือ

  • เห็นภาพเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นนั้นตามมาหลอกหลอนอยู่บ่อยๆ ผุดขึ้นมาซ้ำๆ หรือฝันเห็นบ่อยครั้ง
  • อาการ Flash Back คือ เกิดความตื่นตัว เห็นเหตุการณ์นั้นๆ กำลังจะเกิดขึ้นกับเรา ควบคุมไม่ได้ เกิดอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ก้าวร้าว ซึ่งเดิมไม่เคยเกิดขึ้น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ตกใจง่าย ใจสั่น ความดันโลหิตสูง ไม่มีสมาธิ เครียดได้กับสิ่งต่างๆ รอบตัว
  • พยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่จะส่งผลทำให้กระทบกระเทือนต่อจิตใจ เช่น ภาพข่าวเหตุการณ์ การพูดถึงจากบุคคลอื่น
  • มีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ในเชิงลบ รู้สึกว่าชีวิตตัวเองหม่นหมอง ทั้งตัวเองและสิ่งรอบข้าง คิดว่าตัวเองคงไม่มี  ความสุขได้อีกต่อไปแล้ว ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบหรือเคยทำมาก่อนอีกแล้ว ทำให้อาจคิดฆ่าตัวตาย หรือพึ่งสารเสพติดต่างๆ เพื่อต้องการให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วอาจจะทำให้เกิดผลร้ายแรงยิ่งกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว


ภาวะแทรกซ้อนจากโรค PTSD
 
เนื่องจากภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่อจิตใจของผู้ป่วย และทำให้มีผลต่อการใช้ชีวิตรวมถึงด้านอารมณ์ไปด้วย โดยสามารถนำพาไปสู่โรคภาวะทางจิตและพฤติกรรมที่อาจเป็นอันตราย ได้แก่

  • โรคที่มีผลทางด้านจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรคกลัว โรควิตกกังวล เป็นต้น
  • พฤติกรรมที่เป็นอันตราย เช่น การหันมาใช้สารเสพติด หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรืออาจทำร้ายตนเอง เป็นต้น
  • อาการทางร่างกาย เช่น มีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ ปวดหน้าอก เป็นต้น
     

การรักษาภาวะ PTSD


การรักษาภาวะดังกล่าวมีด้วยกันหลายวิธีและต้องใช้เวลาในการรักษาเพื่อให้อาการดีขึ้นตามลำดับ ประกอบกับการดูแลจากคนรอบข้างประกอบด้วย โดยมีวิธีรักษาดังนี้

  • เรียนรู้และรับมือ ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวต้องพยายามเรียนรู้การจัดการกับความเครียด เช่น หากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย การออกไปพบปะผู้คน หรือทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว เป็นต้น
  • ดูแลตนเองมากขึ้น ไม่ควรบริโภคของที่ไม่ดีต่อสุขภาพโดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่เสพสารเสพติด และเพิ่มเวลาในการพักผ่อนให้มากขึ้นกว่าเดิม
  • การรับยาจากแพทย์ โดยแพทย์จะให้ยาที่สามารถลดความเครียดหรือช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ทั้งนี้การใช้ยาต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำและคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • การบำบัด สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อพูดคุยปรึกษาเพื่อปรับให้สามารถค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนความคิดได้ หรือเลือกที่จะเผชิญกับสิ่งที่เรากลัวและเรียนรู้วิธีการรับมือที่ถูกต้องแต่วิธีนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้การได้รับการดูแลพูดคุยหรือสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันก็สามารถบำบัดได้เช่นกัน

ข้อมูล : โรงพยาบาลพญาไท ,โรงพยาบาลรามาธิบดี ,โรงพยาบาลเพชรเวช