นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ. ในฐานะผู้เสียหายเตรียมร้องทุกข์ดำเนินคดีกับ แอมไซยาไนด์ ผู้ต้องหาที่นำสารไซยาไนด์ไปใช้ฆ่าเหยื่อเพื่อปลดหนี้
และผู้ที่นำ "ไซยาไนด์" ไปใช้วางยาฆ่าสัตว์เลื้อยคลาน โดยถือเป็นการใช้ไซยาไนด์ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนผู้ใช้รายย่อยที่ไม่ต้องมีการขออนุญาตครอบครอง หากในรอบหกเดือนมีการใช้เกิน 100 กิโลกรัม ก็ต้องมีการแจ้งวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ด้วย
โดยตำรวจจะเป็นผู้ติดตามการใช้งาน ว่ามีการใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ ส่วนเรื่องที่มีการขายผ่านออนไลน์ จะต้องไปดูที่ พ.ร.บ.ควบคุมและกฎหมายเรื่องวัตถุอันตราย ว่าโฆษณาได้หรือไม่ ซึ่งหลังจากนี้จะประสานสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ช่วยดูว่าสามารถควบคุมการโฆษณาไซยาไนด์ได้หรือไม่
นายจุลพงษ์ กล่าวอีกว่า ได้เดินทางเข้าให้ข้อมูลกับ พล.ต.อ. สุรเชษฐ หักพาล รอง ผบ.ตร. โดยยืนยันว่า กรอ. ได้ควบคุมการนำเข้าสารไซยาไนด์จากต่างประเทศ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขอนำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและงานศึกษาวิจัย โดยยอมรับว่า มีผู้ใช้รายย่อย ประมาณ 2,000 ราย เช่น การใช้ในร้านทอง ด้วย ซึ่งส่วนนี้ทางบริษัทนำเข้าที่ได้รับขออนุญาตจะเป็นผู้ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เอง
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีบริษัทที่ขอนำเข้าไซยาไนด์ทั้งหมด 14ราย รวมน้ำหนัก 80 ตันต่อปี โดยหลังจากนี้จะมีการแก้ไขเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตนำเข้าไซยาไนด์ โดยจะกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความความเข้มงวดก่อนนำเข้า เช่น ให้ผู้ที่ขออนุญาตนำเข้าแจ้งรายชื่อผู้ที่ต้องการใช้สารไซยาไนด์ เป็นต้น
"ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ กรอ. ไม่มีความบกพร่องในเรื่องนี้"