กรมควบคุมโรคชี้ไทยพบผู้ป่วยโรคหัด 79 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

25 เม.ย. 2566 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2566 | 14:02 น.

กรมควบคุมโรคชี้ไทยพบผู้ป่วยโรคหัด 79 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ระบุเป็นกลุ่มเด็กแรกเกิดถึง 4 ขวบมากที่สุดกว่า 35.44% แนะพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนด เมื่อมีไข้ ไอ และผื่นขึ้น ควรรีบไปหาหมอ

ข้อมูลจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคหัดในประเทศไทยในปี 2565 พบว่ามีรายงานผู้ป่วยโรคหัด จำนวน 230 ราย และในปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 19 เมษายน 2566 พบว่ามีรายงานผู้ป่วย "โรคหัด" จำนวน 79 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.12 ต่อแสนประชากร ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้ พบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ กลุ่มอายุแรกเกิด - 4 ปี (35.44 %) กลุ่มอายุ 25-34 ปี (18.99 %) และกลุ่มอายุ 35-44 ปี (16.46 %) 

สำหรับจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 

  • ยโสธร 
  • ภูเก็ต 
  • ยะลา 
  • นราธิวาส 
  • กรุงเทพมหานคร  

อย่างไรก็ดี ไม่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน โดยพบว่ามีการรายงานโรคหัดในต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ป่วยมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศไทย จำนวน 2 ราย

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคหัดได้ เนื่องจากโรคหัดติดต่อผ่านทางเดินหายใจ โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ ไอแห้งๆ มีน้ำมูก และตาแดง หลังจากมีไข้ประมาณ 3–4 วันจะเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้นที่ใบหน้า แล้วค่อยลามไปแขนและขา 

กรมควบคุมโรคชี้พบผู้ป่วยโรคหัด 79 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต เมื่อผื่นขึ้นประมาณ 1-2 วัน ไข้จะเริ่มลดลง โดยในผู้ป่วยบางรายสามารถพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้  

โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด (MMR) ตั้งแต่วัยเด็ก โดยแนะนำให้ฉีด 2 เข็ม เข็มแรกเมื่ออายุ 9 – 12 เดือน และเข็มที่สองตอนอายุ 2 ปีครึ่ง จึงมักเกิดการระบาดในพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำกว่า 95% 

กรมควบคุมโรค แนะนำว่า ประชาชนควรพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนด เมื่อมีอาการไข้ ไอ และผื่นขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ เมื่อได้รับการวินิจฉัยยืนยันโรคหัดแล้วควรหยุดเรียนหรือหยุดงานประมาณ 4 วันหลังจากผื่นขึ้น 

ส่วนในสถานที่ที่มีผู้อาศัยอยู่แออัด เช่น เรือนจำ ค่ายทหาร ควรมีการคัดกรองและแยกพื้นที่สำหรับผู้ป่วยโรคหัดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค