ปัญหา “ฝุ่น PM2.5” ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กำลังบั่นทอนสุขภาพประชาชน ล่าสุด 48 จังหวัดทั่วไทย กระอักฝุ่น PM2.5 ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สรุปผลการตรวจวัด PM2.5 วันนี้ (7 มีนาคม 2566) ตรวจวัดได้ 58-93 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 72.6 มคก./ลบ.ม.ค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินมาตรฐานโดยอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและมีผลกระทบต่อสุขภาพบางพื้นที่ ถือเป็นความท้าทายต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
The Guardian เคยรายงานอ้างอิงจากงานวิจัยอังกฤษ พบว่า การสัมผัสมลพิษทางอากาศเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล การติดตามอุบัติการณ์ของภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลในผู้ใหญ่เกือบ 500,000 คนในสหราชอาณาจักรช่วง 11 ปี นักวิจัยพบว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษสูงมีแนวโน้มที่จะมีอาการต่างๆ แม้ว่าคุณภาพอากาศจะอยู่ในเกณฑ์ที่ทางการกำหนดไว้ก็ตาม
งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นในสหราชอาณาจักรที่มีค่ามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองต่ำกว่าอีกหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย หากลองเปรียบเทียบค่าฝุ่น PM 2.5 ในวันนี้ (7 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 น.) ตามข้อมูลของ Air Quality Index กรุงลอนดอนมีค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 5.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ถือว่าอากาศดี) ขณะที่กรุงเทพฯ อยู่ที่ 103.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับ 9 ของโลก ตามมาหลังเชียงใหม่ที่อยู่ในอันดับที่ 5
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่าในปีคาดตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มสูงแตะ 28 ล้านคน สร้างมูลค่าการท่องเที่ยวราว 1.44 ล้านล้านบาท จากแรงหนุนของการที่จีนเปิดประเทศ และการปรับตัวของสายการบินที่จัดหาบริการเที่ยวบินรองรับอุปสงค์การท่องเที่ยวได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 ผ่านมา
และเเม้การท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในปีนี้ แต่ก็มีคำเตือนจาก สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ฝุ่น "PM2.5" ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งพื้นที่ภาคเหนือมีปริมาณเกินค่ามาตรฐานมาเป็นเวลาติดต่อกัน มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ของ นั่นหมายความการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไม่ทั่วถึง เพราะสภาพอากาศเป็นพิษ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่อากาศแห้งและปริมาณฝุ่นมักจะเพิ่มขึ้น
เมื่อย้อนดูข้อมูลจาก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ที่เคยระบุถึงผลทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี 2563 ช่วงระยะเวลา 2 เดือน คือ ม.ค.- ก.พ. 2563 คิดเป็นเม็ดเงินรวมราว 3,200–6,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ (ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ) 2,000-3,000 ล้านบาท
กว่า 75% เป็นค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว 1,000-2,400 ล้านบาท เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติบางส่วนหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล และค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจอื่น เช่น ร้านอาหารข้างทาง สวนอาหาร ตลาดนัด 200-600 ล้านบาท