เตือนกลุ่มเสี่ยง 7 มีนาคม 66 ค่าฝุ่น PM 2.5 ยังสูงหลายพื้นที่

06 มี.ค. 2566 | 17:45 น.

7 มีนาคม 2566 ค่าฝุ่น PM 2.5 ยังสูงหลายพื้นที่ "ภาคเหนือ-กทม. และปริมณฑล" แนะประชาชนกลุ่มเสี่ยงพร้อมรับมือติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

ค่าฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มสูงในหลายพื้นที่ หลังจากที่ กรมอนามัย และ GISTDA เปิดเผยการเฝ้าระวังและสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนล่าสุดจากการตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นละอองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยใช้แอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น" ที่ GISTDA พัฒนาขึ้นด้วยการนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง

ในภาพรวมของประเทศ มีค่า PM2.5 สูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือเกือบทั้งหมดมีค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม (เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ) และสีแดง (ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ) ทั้งยัง พบว่า จะมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก

ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์สถานการณ์ PM2.5 ในช่วงระหว่างวันที่ 1 - 7 มีนาคม 2566 นี้หลายพื้นที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คือ ในพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

ปัจจัยหลักที่ทำให้ค่า PM2.5 สูงขึ้น มาจากพื้นที่เผาไหม้หรือจุดความร้อนเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนที่ตรวจพบจากดาวเทียม ซูโอมิเอ็นพีพี

ทั้งนี้ กรมอนามัยให้ความสำคัญกับการดูแลและป้องกันสุขภาพของประชาชน เนื่องจากเมื่อรับสัมผัส PM2.5 เข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดอาการตั้งแต่อาการเล็กน้อยจนถึงการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้แก่

  • โรคระบบทางเดินหายใจ
  • โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด

โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ อาจมีอาการกำเริบและเสี่ยงที่จะมีอาการทรุดหนักได้

ขอแนะนำให้ประชาชนตรวจเช็กค่าฝุ่นและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM2.5

1.กรณีค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม หรือมีค่า 51 – 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ประชาชนทั่วไป

  • ควรลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกอาคาร เปลี่ยนมาออกกำลังกายในอาคาร
  • สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่อออกนอกอาคาร

ผู้มีโรคประจำตัว

  • ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม

2.กรณีค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดง หรือ มีค่า 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป

ประชาชนทั่วไป

  • ควรลดหรืองดการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายนอกอาคาร เปลี่ยนมาออกกำลังกายในอาคาร
  • สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่อออกนอกอาคารทุกครั้ง

กลุ่มเสี่ยง

  • ให้งดออกนอกอาคาร
  • ผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างน้อย 5 วัน

ประชาชนควรเฝ้าระวังตนเองด้วยการประเมินอาการจากการรับสัมผัส PM2.5 พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ "4HealthPM2.5" หรือ เว็บไซต์ "คลินิกมลพิษออนไลน์" และหากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หายใจมีเสียงหวีดให้รีบไปพบแพทย์