ไทยเฝ้าระวัง "โรคไข้หวัดนก" ใกล้ชิด แนะ 6 วิธีลดเสี่ยงติดเชื้อ

25 ก.พ. 2566 | 17:55 น.

กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในกัมพูชาอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังผู้มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย แนะประชาชน 6 วิธีลดความเสี่ยง

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์การระบาดโรคไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิดซึ่งมีรายงานว่า พบผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์ H5N1 ในประเทศกัมพูชาแล้ว โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกัมพูชาเปิดเผยล่าสุดวันนี้ (24 ก.พ.2566) ผลตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ในพ่อของเด็กหญิงวัย 11 ขวบที่เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดนกก่อนหน้านี้ว่า มีผลเป็นบวกติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 โดยขณะนี้ชายคนดังกล่าว อายุ 49 ปี ยังไม่แสดงอาการป่วย

ทั้งนี้ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขประเทศกัมพูชาออกมายืนยันพบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกเป็นรายแรกในรอบ 9 ปีของประเทศกัมพูชาว่า กรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์การระบาดในประเทศกัมพูชาอย่างใกล้ชิด

ข้อมูลย้อนหลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546–2557 พบผู้ป่วยจากเชื้อ H5N1 ในประเทศกัมพูชา จำนวน 56 ราย มีผู้เสียชีวิต 37 ราย

สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ H5N1 ทั่วโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546–25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 พบผู้ติดเชื้อรวม 868 ราย เสียชีวิต 457 ราย ใน 21 ประเทศ

โดยเมื่อปี พ.ศ. 2565 พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ H5N1 ทั้งสิ้น 4 ราย (ประเทศสเปน 2 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย และจีน 1 ราย) ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2540 โรคไข้หวัดนก H5N1 มีรายงานการติดต่อสู่คนเป็นครั้งแรกที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง

สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 ในประเทศไทย จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ติดเชื้อรวม 25 ราย (รายแรกในปี พ.ศ. 2546 และรายสุดท้ายในปี พ.ศ. 2549) มีผู้เสียชีวิต 17 ราย ปัจจุบันยังไม่พบรายงานผู้ป่วยจากระบบการเฝ้าระวังฯ แต่เรายังคงเฝ้าระวังและติดตาม

สถานการณ์จากหลาย ๆ ประเทศอย่างใกล้ชิดและกรมควบคุมโรคได้สั่งการให้ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศยกระดับการตรวจคัดกรองโรคในผู้เดินทาง โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กักกันโรคปศุสัตว์ ที่ด่านกักกันสัตว์ที่บริเวณพรมแดนระหว่างประเทศที่พบการระบาดของไข้หวัดนก อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

ทั้งนี้ เบื้องต้นพบข้อมูลระบุว่า ผู้ป่วยเสียชีวิตจากเชื้อสายพันธุ์ H5N1 รายแรกเป็นเพศหญิง อายุ 11 ปี อาศัยในจังหวัดไพรแวง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชา เริ่มป่วยวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เริ่มแรกมีอาการไข้สูง ไอ และเจ็บคอ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลท้องถิ่น มีอาการหายใจติดขัดก่อนถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงพนมเปญและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า "โรคไข้หวัดนก" เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (Influenza A) ที่พบในสัตว์ปีก เชื้อมีหลายสายพันธุ์ และบางสายพันธุ์สามารถติดต่อสู่คนได้ เช่น H5 และ H7 สามารถพบเชื้อได้ในสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีก จากจมูก ปาก ตา และมูลของสัตว์ปีก

ระยะฟักตัวโดยเฉลี่ย 2–5 วัน แต่อาจยาวนานได้ถึง 17 วันหลังได้รับเชื้อ โรคนี้สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีเชื้อ และจากการสัมผัสอุปกรณ์หรือสิ่งของที่อาจปนเปื้อนเชื้อ โดยส่วนใหญ่หากสัตว์ปีกติดเชื้อไวรัสกลุ่มที่ก่อโรครุนแรง (Highly Pathogenic Avian Influenza; HPAI) เช่น เชื้อสายพันธุ์ H5N1 ชนิดรุนแรง อาจทำให้พบสิ่งคัดหลั่งออกมาจำนวนมากซึ่งคนสามารถรับเชื้อผ่านทางการหายใจเอาสิ่งคัดหลั่งที่ฟุ้งกระจายเป็นละอองฝอยในอากาศเข้าไป

รวมถึงการนำมือที่สัมผัสเชื้อมาลูบจมูก ตา หรือปาก สำหรับการรายงานการติดต่อระหว่างคนสู่คน พบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยและอยู่ในวงจำกัดที่สัมผัสกันอย่างใกล้ชิดเท่านั้น

อาการที่พบ

มีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก และอาจพบอาการท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง หรือชักเกร็งได้

อัตราป่วยตาย ร้อยละ 53 และยังมีอาการอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น เยื่อบุตาขาวอักเสบอย่างอ่อน อาการทางเดินหายใจส่วนต้นคล้ายไข้หวัดใหญ่ จนถึงปอดอักเสบเสียชีวิต 

คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงสำหรับประชาชน 

1.หากมีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือผู้ป่วยปอดบวม ให้รีบพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทาง 

2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยและตาย หากไปที่ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ รวมทั้งพื้นผิวที่สัตว์เหล่านั้นอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค 

3.ห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 

4.หากต้องสัมผัสกับสัตว์ปีกในระยะที่มีการระบาดในพื้นที่ ให้สวมหน้ากากอนามัย และสวมถุงมือ 

5.รับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก 

6.ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และทุกครั้งหลังการสัมผัสสัตว์ปีกและสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีกด้วยสบู่และน้ำ และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า จมูก ตา และปาก หรือหยิบจับอาหารรับประทานด้วยมือเปล่าหลังการสัมผัสสัตว์ปีกหรือสิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนเชื้อ

สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ควรเน้นการเฝ้าระวังผู้ป่วยทางเดินหายใจ โดยหากผู้ป่วยมีอาการทางเดินหายใจรุนแรงควรสอบถามประวัติสัมผัสสัตว์ปีกด้วย และกลุ่มก้อนผู้ป่วยทางเดินหายใจ หากสงสัยไข้หวัดนกให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422