องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังเร่งทำงานร่วมกับทางการ กัมพูชา ในการรับมือกับการระบาดของ ไข้หวัดนก (Bird Flu) หลังพบผู้ป่วยติด ไวรัส H5N1 ซึ่งเป็นตัวการของโรคไข้หวัดนก ถึง 2 รายเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยผู้ป่วยทั้งสองเป็นพ่อลูกกัน และฝ่ายลูกเป็นเด็กหญิงอายุ 11 ขวบ ได้เสียชีวิตแล้ว
แพทย์หญิงซิลวี บริออนด์ ผู้อำนวยการด้านการเตรียมความพร้อมและการป้องกันการระบาดและการระบาดใหญ่ ของ WHO บอกกับผู้สื่อข่าวที่เข้าร่วมการแถลงข่าวแบบออนไลน์เมื่อวันศุกร์ (24 ก.พ.) ว่า สถานการณ์ในปัจจุบันอยู่ในระดับ “น่ากังวล” เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ติดไวรัสไข้หวัดนกในเร็ว ๆ นี้
นอกจากนี้ ยังระบุว่า องค์การอนามัยโลกกำลังทบทวนการประเมินความเสี่ยงในระดับโลก เนื่องจากสถานการณ์ที่ว่านี้ด้วย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ครั้งสุดท้ายที่ WHO ทำการประเมินความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกสู่คน คือเมื่อต้นเดือนก.พ.นี้ ซึ่งในขณะนั้น ผลการประเมินระบุว่า ความเสี่ยงยังอยู่ในระดับต่ำ
ตรวจเข้มเป็นกรณีติดเชื้อระหว่าง "คนสู่คน" หรือไม่
เมื่อวันพฤหัสบดี (23 ก.พ.) ทางการกัมพูชารายงานว่า เด็กหญิงวัย 11 ปีเสียชีวิตลงเพราะติดเชื้อไวรัส H5N1 และเจ้าหน้าที่ยังพบว่า คนรอบตัวเด็กหญิงคนนี้ หนึ่งในนั้นเป็นพ่อของเด็ก ก็ติดเชื้อเช่นกัน แต่ไม่แสดงอาการ นอกจากนี้ ยังมีอีก 11 คนที่เคยใกล้ชิดเด็กหญิงดังกล่าว อยู่ในระหว่างการตรวจหาเชื้อไวรัสนี้
นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี (นับจากปี ค.ศ. 2014) ที่กัมพูชาพบการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในคน
แพทย์หญิงบริออนด์ กล่าวว่า สถานการณ์(การระบาดของ) H151 ทั่วโลกนั้น “น่ากังวลยิ่ง” เนื่องจากการแพร่กระจายของไวรัสจากนกที่บินไปรอบโลก และ ยังพบกรณีการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะมนุษย์ ที่เพิ่มขึ้น
“WHO ให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงจากไวรัสนี้อย่างมาก และร้องขอให้ทั่วโลกยกระดับการเฝ้าระวังสังเกตการณ์ด้วย”แพทย์หญิงบริออนด์ ผู้เชี่ยวชาญจาก WHO กล่าว
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ WHO กล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่า มีการแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดนกจาก “คนสู่คน” แล้วหรือไม่ แต่ประเด็นนี้คือสิ่งที่ทำให้หลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจต่อสถานการณ์ในกัมพูชา เพื่อตรวจสอบว่า ผู้ป่วย 2 รายที่พบนั้นป่วยเพราะ “อยู่ในสิ่งแวดล้อมเหมือน ๆ กัน” และมีการสัมผัสกับนกหรือสัตว์อื่น ๆ ที่ติดเชื้อ ใช่หรือไม่
ไวรัสสายพันธ์ใหม่ของ H5N1 (กลุ่ม 2.3.4.4b) นั้นถูกค้นพบในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ.2563) และเป็นสาเหตุของการตายของนกป่าและสัตว์ปีกที่เลี้ยงในฟาร์มจำนวนมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และไวรัสกลายพันธุ์นี้ยังแพร่ไปสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมด้วย จึงทำให้ทั่วโลกมีความกังวลอย่างมาก
แต่แม้ไวรัสตัวใหม่นี้ยังไม่ได้ทำให้เกิดอาการป่วยหนักในคน และ WHO ได้รับรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อทั้งหมดไม่ถึง 10 คน ซึ่งล้วนเคยสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ตายเพราะไวรัส องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า ได้ยกระดับการเตรียมความพร้อมรับมือ โดยมีการเตรียมยาต้านไวรัสและวัคซีนที่มีการออกใบอนุญาตให้แจกจ่ายใช้งานไว้แล้วด้วย หากสถานการณ์เกิดเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่
ข้อมูลอ้างอิง