โควิดไทยจะกลับมาระบาด "หมอมนูญ"ยันไม่ต้องกลัวสายพันธุ์ XBB.1.5

27 ม.ค. 2566 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2566 | 11:02 น.

โควิดไทยจะกลับมาระบาด หมอมนูญยันไม่ต้องกลัวสายพันธุ์ XBB.1.5 ระบุความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น ไม่ได้ทำให้คนป่วยหนักกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่น

โควิด 19 ในประเทศไทยยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในอัตราที่ชะลอลง

อย่างไรก็ดี จากการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยงถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้โควิดกลับมาสู่ขาขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะจากสายพัรธุ์ใหม่

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า 

ขณะนี้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในประเทศไทยอยู่ในช่วงขาลง 

จำนวนคนติดเชื้อและคนป่วยหนักลดลงอย่างเห็นได้ชัด เชื่อว่าอีกไม่นานก็จะกลับมาเป็นขาขึ้นอีก 

เพราะเชื้อไวรัสโควิดตัวใหม่สายพันธุ์ XBB.1.5 จะเข้ามาไทยจากคนเดินทางจากประเทศตะวันตกไม่ช้าก็เร็ว

ไวรัสโควิดสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 พัฒนามาจาก XBB  ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศอินเดียในเดือนสิงหาคม 2565 

XBB เป็นลูกผสมของไวรัสโควิดสายพันธุ์ BA.2.10.1 กับ BA.2.75

XBB มีการกลายพันธุ์ที่ช่วยให้เอาชนะภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ 

และสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 มีการกลายพันธุ์ที่โปรตีนปุ่มหนามตำแหน่ง F486P 

ซึ่งมีความสามารถในการยึดเกาะกับเซลล์ได้ดีขึ้น ทำให้แพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆถึง 5 เท่า 

โควิดไทยจะกลับมาระบาด

ขณะนี้ XBB.1.5 ขึ้นครองอันดับ 1 ในประเทศสหรัฐอเมริกาแทนที่สายพันธุ์ BQ.1.1 และ BQ.1 แล้ว

เชื้อไวรัสโควิดที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศไทยในขณะนี้เป็นสายพันธุ์ BA.2.75 ยังไม่ใช่ XBB.1.5 

คนไทยไม่ต้องตื่นกลัวสายพันธุ์ XBB.1.5 เท่าที่ทราบสายพันธุ์ XBB.1.5 ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น 

ไม่ได้ทำให้คนป่วยหนักกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆ  

XBB.1.5 ติดกันง่ายมาก คนที่ยังไม่เคยติดเชื้อโควิด ในที่สุดก็จะติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้ 

นอกจากนี้คนที่ได้รับวัคซีนครบโดสและเข็มกระตุ้นแล้วหรือเคยติดเชื้อก็ยังติดเชื้อนี้ได้อีก 

เพราะ XBB.1.5 หลบหลีกภูมิคุ้มกันเก่งกว่าสายพันธุ์อื่น 

แต่คนส่วนใหญ่ถ้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเคยติดเชื้อมาก่อนจะป่วยไม่มาก 
การหลบหลีกภูมิคุ้มกันอาจทำให้การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Evusheld ไม่ได้ผล 

แต่ยาต้านไวรัสเรมเดซิเวียร์ แพ็กซ์โลวิด และโมลนูพิราเวียร์ยังใช้ได้ผลเหมือนเดิม