โควิด 19 ในประเทศจีนไม่สามารถควบคุมให้เป็นศูนย์ได้ หลังจากที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก
ล่าสุดน.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
หลังจากที่โควิดระบาดไปทั่วโลกมานานร่วมสามปี และประเทศต่างๆเลือกใช้นโยบายในการรับมือกับโควิดที่แตกต่างกันไป
จีนเป็นประเทศสุดท้าย ที่ใช้นโยบายเข้มข้น ปิดประเทศต่อเนื่องกันมาสามปี ห้ามนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศจีน
และไม่ให้คนจีนออกมาท่องเที่ยวภายนอก เรียกว่านโยบายโควิดเป็นศูนย์
หลังจากผ่านไป 3 ปี ผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับไม่เกิน 1 ล้านคน ผู้เสียชีวิตไม่เกิน 10,000 คน
แต่ก็มีการต่อต้านจากประชาชนที่ได้รับความยากลำบาก ทั้งจากมิติทางเศรษฐกิจและสังคม
หมอเฉลิมชัย ระบุอีกว่า ในที่สุดจีนจึงตัดสินใจยกเลิกมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565
หลังจากนั้น ก็ตามมาด้วยการระบาดอย่างรุนแรงกว้างขวาง โดยที่ทางการจีนไม่ได้แจ้งจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ
ในวันนี้ ChinaCDC ได้ประกาศตัวเลขออกมาอย่างเป็นทางการแล้วว่า
จีนได้เข้าสู่พีคหรือจุดสูงสุดของการระบาดโควิดในสัปดาห์ที่สามของเดือนธันวาคม 2565 (22ธค.65)
โดยมีผู้ติดเชื้อมากถึงวันละ 7 ล้านคน และเสียชีวิตมากถึงวันละ 4000 คน
นับจนถึงปัจจุบัน ผู้มีภูมิคุ้มกันทั้งจากการฉีดวัคซีนและติดเชื้อตามธรรมชาติ ประมาณ 1.1 พันล้านคน คิดเป็น 80 ของประชากร 1.4 พันล้านคน
และเสียชีวิตรวม 72,596 คน ในช่วงระหว่างวันที่ 8ธค.65-19 มค.66
จากการคำนวณเปรียบเทียบล่าสุดพบว่าผู้ติดเชื้อแบบมีไข้ ลดลง 96.2%
หมอเฉลิมชัย ยังระบุด้วยว่า แม้ตัวเลขดังกล่าวโดยเฉพาะตัวเลขผู้เสียชีวิต จีนจะเป็นผู้แถลงฝ่ายเดียว
และประเทศตะวันตกได้ตั้งข้อสงสัยว่าสถิติตัวเลขดังกล่าวนั้นต่ำกว่าความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม ก็พอจะสรุปได้ว่า จีนกำลังจะพ้นระลอกพีคสูงสุดของโควิด เข้ามาสู่ระยะใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆสำเร็จแล้ว โดยใช้เวลารับมือวิกฤติอยู่เพียงสองเดือน
ในขณะที่ประเทศอื่นๆเจอโควิดหลายระลอก ในช่วงสามปีต่อเนื่องกัน
อาจจะเป็นการคาดเดาที่เก่งของจีน หรือเป็นเพียงโชคดี ที่ไวรัสบังเอิญกลายพันธุ์เป็นโอมิครอน ซึ่งมีการติดเชื้อที่รวดเร็วกว้างขวางมาก แต่เสียชีวิตน้อย
จึงทำให้ขณะนี้ จีนมีจำนวนผู้ติดเชื้อและฉีดวัคซีนจนมีภูมิคุ้มกันไปแล้ว 80% ของประชากร ใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ
แต่เสียชีวิตน้อยกว่ามาก (เมื่อคิดเป็นร้อยละ ) และโควิดคงจะกลายเป็นโรคประจำฤดูกาลไปพร้อมกับประเทศอื่นต่อไป
อย่างไรก็ตาม คงจะต้องติดตามกันต่อไป โดยเฉพาะในเขตชนบทของจีน ว่าจะมีระลอกของโควิดเกิดขึ้นอีกหรือไม่ จากการที่จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มสามยังไม่สูงมากพอ