แนวทางการฉีดวัคซีนโควิดในอนาคตผู้ที่ยังไม่เคยควร 3 เข็ม กระตุ้นทุกปี

26 ม.ค. 2566 | 04:22 น.

แนวทางการฉีดวัคซีนโควิดในอนาคตผู้ที่ยังไม่เคยควร 3 เข็ม กระตุ้นทุกปี หมอธีระเผยกรณีเคยติดเชื้อมาก่อน ยังประเมินรูปแบบได้ยาก เพราะข้อมูลยังไม่ชัด

ฉีดวัคซีนโควิดเป็นแนวทางที่ใช้สำหรับป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 รวมถึงการปกป้องตนเองเวลาติดเชื้อ

โดยปัจจุบันเริ่มมีการถามถึงแนวทางการฉีดวัคซีนว่าควรจะเป็นไปในรูปแบบใด หลังจากที่เห็นแล้วว่าโควิดน่าจะอยู่คู่กับโลกไปอีกนาน หรือไม่มีวันหมดไป

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความระบุว่า 

ทิศทางการฉีดวัคซีนโควิดในอนาคต

วันพฤหัสบดีนี้ ทาง US FDA จะมีการประชุมเพื่อวางแผนการฉีดวัคซีนโควิดสำหรับประชาชนในอนาคต

ดังที่เคยบอกเมื่อสองวันก่อน จากการติดตามข้อมูลวิชาการจากการวิจัยทางการแพทย์จนถึงปัจจุบัน

สรรพคุณในการลดเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิตนั้น งานวิจัยทั่วโลกหลายชิ้นชี้ไปในทางเดียวกันว่าน่าจะคงอยู่ได้อย่างน้อย 6-12 เดือน 

แต่ในเรื่องระดับแอนติบอดี้นั้นคงหวังพึ่งได้ยาก เพราะลดลงได้เร็วในเวลาไม่กี่เดือน

หมอธีระ บอกต่อไปอีกว่า การป้องกันแบบผสมผสานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง คือนอกจากฉีดวัคซีนแล้ว 

ยังควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัว ระมัดระวังพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง 

รวมถึงการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง รักษาความสะอาด

ส่วนตัวแล้วประเมินว่า การวัคซีนโควิด-19 ในอนาคตนั้น อาจตกอยู่ในรูปแบบ 3 เข็ม ณ 0-2-6 เดือน (ลักษณะคล้ายวัคซีนตับอักเสบบี) 

แนวทางการฉีดวัคซีนโควิดในอนาคต สำหรับคนที่ยังไม่เคยฉีดและไม่เคยติดเชื้อ จากนั้นอาจฉีดกระตุ้นปีละครั้ง 

เพื่อหวังลดเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิต หากปัญหาโควิดเรื้อรังชุกชุมทั่วโลกต่อเนื่อง

หมอธีระ บอกอีกด้วยว่า ส่วนกรณีเคยติดมาก่อนนั้น ยังประเมินรูปแบบได้ยาก เพราะข้อมูลยังไม่ค่อยชัดนัก 

และช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์โดยส่งผลต่อการดื้อต่อภูมิคุ้มกันได้มาก 

คงต้องติดตามกันต่อไป ทั้งนี้ในทางปฏิบัติอาจดำเนินตามแบบข้างต้นไปก่อน

และยังมีอีกหลายกรณีที่ข้อมูลยังไม่ชัด เช่น ฉีดไปแล้วแต่ไม่ครบ และเว้นไปนาน 

รวมถึงความแตกต่างในเรื่องประสิทธิภาพ ระดับภูมิ และระยะเวลาที่ลักลั่นกันระหว่างชนิดของวัคซีน ฯลฯ

แนวโน้มทั่วโลก ใช้ mRNA vaccines เป็นหลัก เพราะหลักฐานวิชาการหนักแน่น 

ยกเว้นบางกลุ่มประชากร/ช่วงอายุ/เพศ ที่อาจพิจารณาแพลตฟอร์มอื่นมาสอดแทรกประยุกต์ใช้

อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามดูผลการประชุมของ US FDA ว่ามีการแชร์ผลการศึกษาวิจัยใดๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยในการตัดสินใจระดับนโยบายได้มากน้อยเพียงใด

ทิศทางการใช้ชีวิตถัดจากนี้ ความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของแต่ละคนแต่ละครอบครัว ยังคงขึ้นอยู่กับความใส่ใจสุขภาพเป็นสำคัญ

Long COVID ยังเป็น Pandora box ที่จำเป็นต้องระวัง

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก