เปิดสาเหตุโควิดสายพันธุ์โอมิครอนระบาดหนักทั่วโลก อ่านเลยที่นี่

29 ธ.ค. 2565 | 08:27 น.

เปิดสาเหตุโควิดสายพันธุ์โอมิครอนระบาดหนักทั่วโลก อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระเผยความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และงานวิจัยทั่วโลก

โควิด19 ยังคงระบาดอย่างหนักทั่วโลก และมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยมากมาย โดยเฉพาะจากสายพันธุ์ "โอมิครอน" (Omicron)

 

ล่าสุดรศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ

 

เหตุใด Omicron จึงระบาดหนักทั่วโลก?

 

จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์จนถึงปัจจุบัน มีงานวิจัยทั่วโลกชี้ให้เห็นชัดเจนไปแล้วว่า 

 

ไวรัสโรคโควิด-19 มีพัฒนาการเพื่อความอยู่รอดของตัวไวรัสอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดการระบาดหนักหลายระลอกในช่วงสามปีที่ผ่านมา 

 

ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิมจากอู่ฮั่น ประเทศจีน (WA1), สายพันธุ์ D614G, สายพันธุ์เบต้า อัลฟ่า เดลต้า และมาสู่ยุค Omicron ตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา

 

ที่น่าสนใจคือ Omicron มีการระบาดหนักมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด 

 

รวมถึงมีการกลายพันธุ์ไปมากกว่า 500 สายพันธุ์ย่อย ซึ่งเป็นอัตราการกลายพันธุ์ที่มากที่สุด และสูงกว่าพวกไวรัสไข้หวัดใหญ่อย่างเทียบไม่ติด

 

การระบาดหนักของ Omicron นั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามาจากปัจจัยหลักๆ หลายปัจจัย ได้แก่ 

 

การดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนและจากการที่เคยติดเชื้อมาก่อน ตลอดจนพฤติกรรมการป้องกันตัวของคนในสังคมที่ลดลง 

จากเสรีการใช้ชีวิต เดินทางท่องเที่ยว รวมถึงเรื่องการฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศ ทั้งชนิดวัคซีนที่ใช้ เงื่อนเวลาที่ได้รับ ความครอบคลุม 

 

และการฉีดเข็มกระตุ้นว่าครบและทันต่อสถานการณ์ในแต่ละประเทศหรือไม่

 

ล่าสุด Iwasaki A และคณะจากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาสำคัญ ใน bioRxiv เมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา

 

โดยพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิมแล้ว การติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ของ Omicron นั้น 

 

เปิดสาเหตุโควิดสายพันธุ์โอมิครอนระบาดหนักทั่วโลก

 

ตัวไวรัสจะสามารถยับยั้งกลไกการทำงานของ MHC I ในเซลล์ที่ติดเชื้อ ทำให้ระบบการทำงานของภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ 

 

ซึ่งใช้เม็ดเลือดขาวชนิด CD8 T cells ในการทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อนั้นไม่สามารถทำงานได้ตามที่ควรจะเป็น

 

ปรากฏการณ์ข้างต้น พบทั้งในสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ตั้งแต่ BA.1, BA.2, BA.4 รวมถึง XAF ด้วย 

 

การค้นพบนี้จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า สายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ของ Omicron นั้น 

 

ไม่ใช่แค่พัฒนาเรื่องการดื้อต่อภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดหรือแอนติบอดี้เท่านั้น 

 

แต่ยังมีสมรรถนะในการยับยั้งการทำงานของ CD8 T cells ทำให้ไม่สามารถทำลายเซลล์ติดเชื้อได้ 
 

ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายคนที่ติดเชื้อมีปริมาณไวรัสที่มาก และเพิ่มโอกาสที่จะแพร่เชื้อให้แก่คนอื่นได้มากเป็นเงาตามตัว 

 

ย้ำอีกครั้งว่า การระบาดในไทยเรานั้น ยังมีการติดเชื้อจำนวนมากในแต่ละวัน

 

การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอถือเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ว่าจะทำงาน เรียน หรือท่องเที่ยว พบปะสังสรรค์กับผู้อื่น

 

ควรไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด เพื่อลดเสี่ยงป่วย ตาย และ Long COVID

 

เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี 

 

เลือกใช้สถานบริการ กินดื่ม ในที่ที่โปร่งโล่ง และพนักงานมีการป้องกันตัวอย่างดี

 

หากไม่สบาย ตรวจพบว่าติดเชื้อ ควรแยกตัวจากผู้อื่นอย่างน้อย 7-10 วัน จนกว่าอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ จึงออกมาใช้ชีวิตป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจนครบสองสัปดาห์

 

ถ้าไม่สบาย ตรวจแล้วได้ผลลบ อย่าเพิ่งวางใจ เพราะอาจเป็นผลลบปลอม ให้ตรวจซ้ำทุกวันติดกันอย่างน้อยสามวัน  

 

สำคัญที่สุดคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก