ศัลยกรรม ‘สายมู’ แรงส์ ปลุกตลาด 4 หมื่นล้านคึกคัก

20 พ.ย. 2565 | 04:59 น.

ศัลยกรรมตกแต่ง 4 หมื่นล้านส่งสัญญาณเฟื่องฟู จับตาปี 66 กลับมาเต็มร้อย หลัง “ศัลยกรรมสายมู” เสริมโหงวเฮ้งสุดฮอต คนรุ่นใหม่ดูฤกษ์เข้าห้อง ลงมีด ส่งผลคลินิกความงามต้องปรับตัว เสริมทีมหมอดูประจำ แนะรัฐสร้างหลักสูตร เสริมแกร่งธุรกิจแข่งเกาหลี

ตลาดศัลยกรรมตกแต่ง เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตทุกปี สืบเนื่องจากผู้หญิงให้ความสำคัญกับความสวยความงามเป็นอันดับต้นๆ โดยในปี 2562 มูลค่าการศัลยกรรมตกแต่งทั่วโลก เพิ่มขึ้นกว่า 7.4% แต่ในปี 2564 กลับเติบโตลดลงเฉลี่ย 10% ต่อปี จากแรงฉุดของมาตรการสกัดกั้นโควิด

 

ส่งผลให้ธุรกิจศัลยกรรมไทยซึ่งมีมูลค่าราว 4 หมื่นล้านบาท เติบโตลดลงในในทิศทางเดียวกัน จากการสั่งปิดคลินิกและห้ามทำหัตถการต่างๆ หลังการปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น และผ่อนคลายมาตรการต่างๆ กลายเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้ “ศัลยกรรมตกแต่ง” กลับมาเฟื่องฟู

              

นพ.สมศักดิ์ คุณจักร ศัลยแพทย์ชื่อดังผู้บริหาร Dr.Somsak Clinic เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังโควิดคลี่คลาย และรัฐอนุญาตให้การผ่าตัดทำศัลยกรรมกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง ส่งผลให้อุตสาหกรรมศัลยกรรมเริ่มกลับมาฟื้นตัว เพราะความสวยความงามเป็นเรื่องที่รอไม่ได้แต่ยังมีบางส่วนที่ยังมีความกังวลบ้างเล็กน้อย

ศัลยกรรม ‘สายมู’ แรงส์ ปลุกตลาด 4 หมื่นล้านคึกคัก

แต่เชื่อว่าธุรกิจนี้ยังไปได้ดีแน่นอนและกลับมาเฟื่องฟูเช่นในอดีต ทั้งนี้ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด คลินิกความงามไม่ปิดตัวลง แต่เป็นลักษณะของการพักงานเพื่อรอกลับมาเปิดให้บริการเพราะใช้บุคลากรน้อย ค่าใช้ไม่มากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น

              

ในส่วนของเทรนด์ผู้บริโภค ต้องยอมรับผู้บริโภคมีความสนใจเรื่องความงามตั้งแต่อายุ 15-16ปี แต่ยังเข้าไม่ถึงบริการด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของโซเชียลมีเดียทำให้คนต้องการเลียนแบบหรืออยากสวยแข่งกัน ดังนั้นจุดเริ่มของการเข้าวงการศัลยกรรมส่วนใหญ่จะเป็นช่วงวัยทำงานที่มีกำลังซื้อ รองลงมาเป็นวัยผู้ใหญ่ที่ต้องการมีบุคลิกภาพที่ดีและคงความอ่อนเยาว์ รวมทั้งเด็กอายุ 15-16 ปีที่ผู้ปกครองพาเข้าใช้บริการโดยความสมัครใจ

ศัลยกรรม ‘สายมู’ แรงส์ ปลุกตลาด 4 หมื่นล้านคึกคัก               

ทั้งนี้แม้ว่าดีมานด์จะสูงอย่างมากในประเทศไทย แต่อุตสาหกรรมนี้กลับไม่ขยายตัวเท่าที่ควร ซึ่งน.พ. สมศักดิ์ ฉายภาพแรงฉุดของอุตสาหกรรมนี้ว่า ศักยภาพของแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งไทยในอดีตมีชื่อเสียงมากกว่าแพทย์เกาหลีมาก ชาวต่างชาตินิยมบินเข้ามาทำศัลยกรรม ส่วนปัจจุบันการที่แพทย์เกาหลีมีชื่อเสียงและได้ความนิยมอย่างมากเป็นเพราะรัฐบาลให้การสนับสนุน ส่งเสริมหรือแม้กระทั่งให้ทุนในการเรียนต่อเฉพาะทาง เพราะมองว่าธุรกิจศัลยกรรมเป็นส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ

              

สำหรับประเทศไทยในอดีตการศัลยกรรมถูกมองว่าเป็นวิชามารไม่ใช่การรักษาโรค และมองว่าความสวยความงามไม่ใช่สิ่งจำเป็นรัฐบาลจึงไม่สนับสนุน และในบางครั้งคอยโจมตีและจับผิด ถูกตรวจสอบ ฟ้องร้องและร้องเรียนจำนวนมาก

 

ดังนั้นเรื่องศัลยกรรมหรือความสวยความงามจึงอยู่ในมือของเอกชนทั้งหมดซึ่งมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคม มีการจัดประชุมวิชาการ เพื่อเผยแพร่ความรู้หรือแชร์ประสบการณ์ความรู้ระหว่างกัน แต่ทางรัฐบาล โรงเรียนแพทย์หรือกระทรวงต่างๆ ไม่ได้ส่วนมามีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนใดๆเอกชนต้องช่วยเหลือกันเองมาหลายสิบปีแล้ว จึงทำให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวช้า

              

“ถ้าต้องการให้ไทยมีชื่อเสียงเหมือนเกาหลี รัฐบาลควรต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนหรือให้การรับรองหลักสูตรการศัลยกรรม เราพยายามเขียนหลักสูตรขึ้นมาเพื่อให้แพทยสภารับรองแต่ยังไม่ได้รับการรับรองเพราะเขามองว่าเราไม่ใช่คณะแพทย์หรือมหาวิทยาลัยแพทย์ และในการพิจารณาปัญหาฟ้องร้องคดีที่มีปัญหาระหว่างคนไข้กับหมอ ควรจะต้องมีหมอความงามเข้าไปร่วมแสดงความเห็นด้วย แพทยสภาจะต้องให้การยอมรับโรงเรียนแพทย์เองก็ควรต้องมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องของความงามหรือศัลยกรรม เพราะทุกวันนี้นอกจากไม่ส่งเสริมแล้วยังจ้องแต่จะจับผิด”

              

“น.พ.สมศักด์” ยังกล่าวถึงเทรนด์ศัลยกรรมที่กำลังมาแรงว่า ปัจจุบันศัลยกรรมสายมูหรือการเสริมโหงวเฮ้ง กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นแม้กระทั่งวัยรุ่นก็ให้ความสนใจกับศาสตร์นี้ค่อนข้างมาก ต้องมีการดูฤกษ์ ดูเวลาเข้าห้อง ดูฤกษ์เวลาลงมีด ถ้าแพทย์สามารถทำได้ถูกหลักก็จะทำให้ชีวิตคนไข้ดีขึ้นซึ่งทางคลินิกของเรามีหมอดูประจำคลินิกเพราะคนไข้บางคนต้องการดูฤกษ์ผ่าตัด ฤกษ์ลงมีด

 

ส่วนบางคนใช้ฤกษ์สะดวกคนไข้ว่าง หมอว่างสามารถทำหัตถการได้เลย ในช่วงก่อนโควิดมีเคสศัลยกรรมสายมูมากกว่า 100 เคสต่อเดือนแต่ปัจจุบันเหลือเพียง 50 เคสต่อเดือน นอกจากปัจจัยด้านความกังวลของโควิดแล้วยังมีเรื่องของเศรษฐกิจที่ช่วงหลังแย่ลง ประกอบกับค่าบริการของคลินิกที่ค่อนข้างสูงจึงทำให้คนไข้บางส่วนหันไปใช้บริการที่อื่น

              

ด้านรศ. นพ.ธันวา ตันสถิตย์ ผู้ก่อตั้ง และอดีตผู้อำนวยการ ศูนย์ฝึกผ่าตัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ในแง่ของความงามจะมี 2 ศาสตร์ที่คาบเกี่ยวกัน คือเวชศาสตร์ความงามหรือ Hesthetics กับ Anti aging เนื่องจากคอนเซ็ปต์มีความคล้ายคลึงกัน ในเรื่องของการชะลอวัยให้ช้าลงและการทำให้ดูอายุน้อยลง โดยการศัลยกรรมจะอยู่ในฝั่งเรื่องของ Hesthetics Medicine หากการใช้ยากับการรักษาแบบโบท็อกหรือฟิลเลอร์ไม่เห็นผลการศัลยกรรมจะช่วยได้ในระดับสุดท้าย

              

ในอดีต Hesthetics จะโฟกัสในกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อที่จะย้อนวัยเช่นจาก 50 ปีมาเป็น 40 ปี แต่ปัจจุบันพบว่า “พรีเวนชั่น” สำคัญกว่า คนไข้ส่วนใหญ่จะอายุน้อยลงเรื่อยๆแม้แต่วัยรุ่นเองมีความเข้าใจในการปรับรูปหน้าและเริ่มเข้ามาปรึกษา เดดไลน์ของคนกลุ่มนี้คือก่อนเริ่มต้นทำงาน จะเริ่มมาปรับรูปหน้าเพื่อเป็น First impression ในการสมัครงานจากนั้นจะเมนเทนในบริการที่สูงขึ้นไป นอกจากนี้ผู้ชายก็เริ่มสนใจมากขึ้นการปรับรูปหน้าและดูแลบุคลิกภาพมากขึ้นเช่นกัน

              

ขณะที่ นายกสิกิจ พ่วงภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเทค ฟาร์มา จำกัด ผู้ซัพพลายยาและเครื่องมือแพทย์ให้กับคลินิกความงามในไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอดีตอาจรู้อายุของคนได้จากใบหน้า แต่ปัจจุบันไม่สามารถมองออกว่าคนตรงหน้ามีอายุเท่าไร

 

ด้วยนวัตกรรมที่เพิ่มมากขึ้นและมีมาตรฐานและความปลอดภัยมากทำให้คนช่วงอายุ 40-60 ปีดูอ่อนกว่าวัย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ เรื่องของบุคลิกภาพซึ่งปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะความมั่นใจและบุคลิกภาพสามารถทำให้เป็นลีดเดอร์ มีคนให้ความสำคัญหรือมีโอกาสมากกว่าคนอื่น

              

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาคลินิกความงามและอุตสาหกรรมโดยรวมได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ แต่ละธุรกิจได้รับผลกระทบมาก-น้อยหรือไม่ได้รับผลกระทบเลย ซึ่งในส่วนของ เอสเทค ฟาร์มา ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยและมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5-10 %เป็นอย่างน้อยทุกๆปี ขณะที่ภาพรวมทั้ง recovery กลับมาได้ 30-40% เพราะปีที่แล้วมีทั้งการปิดคลินิกจากโควิด และส่งผลกระทบมาถึงมกราคมปีนี้

              

แต่ในช่วงกุมภาพันธ์เป็นต้นมาเริ่มเห็นดีมานด์ของคนที่ต้องการดูแลตัวเองมากขึ้นอยากให้ตัวเองดูดี ทำให้เริ่มมีคนกลับมาใช้บริการที่คลินิกราว 70-80% เพิ่มขึ้นจากช่วงโควิดที่มีผู้เข้ามาใช้บริการในคลินิกเพียง 40% ของช่วงก่อนโควิดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าตลาดจะ recoveryได้ 100% ในปีหน้า เพราะปีนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องของเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูงขึ้นทุกตัว แต่เชื่อว่าปัญหาทุกอย่างทั้งสงคราม ค่าเงินจะจบและดีขึ้นในเร็วๆ นี้แน่นอน

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,836 วันที่ 17 - 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565