ครั้งแรกในไทย กทม. บริการฉีดวัคซีน PCV ในเด็กอายุ 2 - 4 เดือน ฟรี เริ่ม 15 พ.ย.นี้

15 พ.ย. 2565 | 07:12 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2565 | 14:26 น.

กรุงเทพมหานคร บริการฉีดวัคซีน PCV ในเด็กอายุ 2 - 4 เดือน ฟรี เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เริ่ม 15 พ.ย. 65 เข้ารับบริการ ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ทั้ง 69 แห่ง

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย จัดทำโครงการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะให้บริการฉีดวัคซีนดังกล่าวครั้งแรกในวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ให้แก่เด็กที่มีอายุ 2 - 4 เดือน ที่มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 


สามารถเข้ารับบริการ ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ทั้ง 69 แห่ง และจะให้บริการต่อเนื่องในคลินิกสุขภาพเด็กดี (Well baby) ทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 – 15.30 น. 

 

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวโครงการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้ธีม “กทม. เมืองสุขภาพดี ยกระดับดูแลเด็ก กทม. บริการฉีดวัคซีน PCV ครั้งแรกในประเทศไทย เริ่มแล้ววันนี้ว่า 

"วันนี้เป็นความพยายามของกรุงเทพมหานครอีกเรื่องหนึ่งที่จะดูแลสุขภาพประชาชน โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มของเด็กเล็ก อายุ 2 – 4 เดือน โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถนำน้องๆ มารับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคที่จะเกิดขึ้นได้ ขณะนี้เราเปิดให้เด็ก อายุ 2 – 4 เดือน ซึ่งเป็นช่วงอายุแรกที่จะได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สามารถเข้ารับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง โดยเริ่มในวันพรุ่งนี้เป็นวันแรก ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและช่วยดูแลพี่น้องประชาชนของกรุงเทพมหานคร"

 

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

 

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี หากมีการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส Streptococcus pneumoniae ที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือปอดอักเสบรุนแรง อาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้

 

สำหรับอาการสำคัญและความรุนแรงของโรค จะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีการติดเชื้อ เช่น หากเป็นโรคปอดอักเสบ มักจะมีอาการ ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย หรือหากมีการติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ในเด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม ชัก และอาจเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หรือหากมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยก็จะมีไข้สูง หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว มีภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้

สถานการณ์โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2565 พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ จำนวน 5,870 คน คิดเป็นอัตราป่วย 106.19 ราย ต่อประชากรแสนคน และพบผู้ป่วยอายุระหว่างแรกเกิดถึง 2 ปี จำนวน 973 คน คิดเป็นอัตราป่วย 17.69 ราย ต่อประชากรแสนคน

 

ทั้งนี้หลายประเทศในยุโรป และสหรัฐ แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสทั้งในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งปัจจุบันนั้นมีวัคซีนที่สามารถป้องกันอันตรายจากเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กที่ได้บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศบังกลาเทศ เมียนมา เนปาล และภูฏานเรียบร้อยแล้ว

 

สำหรับประเทศไทย ยังไม่ได้มีการบรรจุวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคพื้นฐาน (EPI Program) ของประเทศ จึงยังไม่มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้ มีเพียงวัคซีนทางเลือกที่เสียค่าใช้จ่ายในการฉีดสูง โดยทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาเข้าในแผนฯ ซึ่งกรุงเทพมหานครเห็นว่าสามารถดูแลในกลุ่มเด็กเล็กก่อนได้ จึงได้เริ่มโครงการนี้ขึ้น

 

สำหรับวิธีป้องกันการเกิดโรคนี้ มีได้หลากหลายวิธี ได้แก่

 

1. หลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในบริเวณสถานที่ที่คนแออัด

 

2. จัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาดอยู่เสมอ

 

3. หลีกเลี่ยงฝุ่นและควัน เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ

 

4. ควรหลีกเลี่ยงให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่ใกล้ชิดกับผู้กำลังมีอาการหวัด หรือไอ

 

5. ให้โภชนาการที่เพียงพอแก่เด็ก โดยเริ่มจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือน แรกของชีวิต

 

6. การฉีดวัคซีน ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่ดีที่สุด