รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ
ทำงานในด้านการขนส่งสาธารณะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่างานอื่นๆ
ข้อมูลจาก The California Department of Public Health ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำการวิเคราะห์เหตุการณ์ระบาดในที่ทำงาน 340 เหตุการณ์ รวมคนติดเชื้อทั้งสิ้น 5,641 คน และเสียชีวิตไป 537 คน ตั้งแต่มกราคม 2563 จนถึงพฤษภาคม 2565
พบว่า คนที่ทำงานในรถบัส รวมถึงขนส่งสาธารณะในเมืองนั้นจะมีอัตราการติดเชื้อสูงกว่างานอื่นๆ 5.2 เท่า และมีจำนวนคนเสียชีวิตมากกว่างานอื่นๆ 1.8 เท่า
ในขณะที่คนที่ทำงานด้านขนส่งทางอากาศ (เครื่องบิน) นั้นมีอัตราการติดเชื้อสูงกว่างานอื่นราว 3.6 เท่า
ผลการศึกษานี้ชี้ให้เราเห็นความสำคัญในการประเมินความเสี่ยงในระบบการทำงานของอาชีพต่างๆ และวางแผนป้องกัน
งานด้านการขนส่งสาธารณะนั้น ความเสี่ยงเกิดจากเรื่องความแออัด ใกล้ชิด ระยะเวลานาน จำนวนครั้งและจำนวนคนที่พบปะมีมาก รวมถึงเรื่องการระบายอากาศในพาหนะชนิดต่างๆ และการสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้และสถานที่สาธารณะร่วมกัน ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมามีมาก โอกาสเกิดระบาดจึงมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ
อัพเดต Long COVID
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา Bues H และคณะจาก MGH, Harvard University ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยเบื้องต้นจากการทำสแกนสมองด้วย Positron Emission Tomography (PET) ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ Long COVID ทางด้านสมองและระบบประสาท เปรียบเทียบกับคนปกติ
ผลการทำ PET Scan พบว่ามีความผิดปกติที่ชัดเจน บ่งถึงการเกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์ในสมองส่วน dorsal anterior cingulate cortex และ dorsal brainstem
การศึกษานี้ยังคงดำเนินการอยู่เพื่อตรวจเพิ่มในอาสาสมัครและผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเบื้องต้นนี้ก็สอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นทั่วโลกที่ชี้ให้เห็นว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นไม่จบแค่หายหรือตาย แต่ทำให้เกิดปัญหาระยะยาวตามมาหลากหลายระบบของร่างกาย
การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอระหว่างการดำรงชีวิตประจำวัน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก