คนไทยป่วย "โรคซึมเศร้า" พุ่ง 3.4 หมื่นคน กรมสุขภาพจิต เผยสาเหตุน่าห่วง

25 ก.ย. 2565 | 15:09 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2565 | 22:16 น.
2.2 k

กรมสุขภาพจิต เผยปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลก พบคนไทยป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น เป็น 3.4 หมื่นคน เผยสาเหตุน่าห่วง พร้อมเร่งขยายสิทธิประโยชน์ด้านการรักษา ร่วมกับ สปสช. และผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพิ่มดูแลผู้ป่วยร่วมกับครอบครัวและชุมชน

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากรายงานศูนย์ข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวชมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อาทิ ผู้ป่วย โรคซึมเศร้า เพิ่มขึ้นจาก 30,247 คน ในปี 2562 เป็น 33,891 คน ในปี 2564 โดยเป็นไปตามแนวโน้มเดียวกันกับสถานการณ์ทั่วโลก

 

โดย กระทรวงสาธารณสุขได้ทำงานเชิงรุกในการสร้างเครือข่ายเพื่อการคัดกรองค้นหากลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยทางจิตเวชเพิ่มขึ้น เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงบริการ 

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อห่วงใยจากหลายภาคส่วนถึงความพร้อมด้านการตรวจรักษา โรคซึมเศร้า ที่ยังจำเป็นต้องเร่งขยายศักยภาพและเพิ่มพูนคุณภาพมากขึ้น ไม่เพียงเฉพาะการเปิดบริการหอผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มเติมในโรงพยาบาล 30 แห่งทั่วประเทศเพื่อรองรับการรักษา และส่งต่อร่วมกับโรงพยาบาลทางจิตเวชที่มีอยู่ 20 แห่ง 

 

ทั้งนี้ยังได้มีการประสานงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เพื่อผลักดันยาจิตเวชที่จำเป็นเข้าสู่บัญชียาหลักเพิ่มเติม รวมทั้งพิจารณาหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมถึงการรักษาที่ทันสมัยทั้งที่หน่วยรักษาพยาบาลและในชุมชนด้วย

 

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต

อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ในส่วนของจำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น จากการสำรวจพบว่า ส่วนหนึ่งมีสาเหตุเกิดจากวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19


อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ประเทศไทยมีจิตแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 325 คน ส่วนบุคลากรด้านสุขภาพจิตสาขาอื่นๆ เช่น พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีถึง 2,838 คน ถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียด้วยกัน 

 

ทั้งนี้มีการเร่งฝึกอบรมเพิ่มขึ้นในแต่ละปีสำหรับแพทย์ทั่วไปในประเทศ และได้รับการฝึกอบรมด้านจิตเวชด้วยจำนวนชั่วโมงที่มากกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ บุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ให้การดูแลผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาล และทำงานเชิงรุกเพื่อส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตร่วมกับเครือข่ายอื่น ๆ นอกระบบสุขภาพ 

 

ทั้งในโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถานประกอบกิจการ สถานสงเคราะห์ สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก เรือนจำ ฯลฯ ช่วยให้ค้นหาผู้ป่วยพบในระยะแรกเริ่ม และผลการรักษาดีกว่าการรอรับรักษาในโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว

 

แพทย์หญิงอัมพร กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากบริการทางการแพทย์และยา ครอบครัวและคนใกล้ชิดเป็นกลุ่มคนสำคัญที่จะช่วยสังเกตอาการ โรคซึมเศร้า และช่วยเหลือเบื้องต้นได้ โดยสามารถใช้หลักการ 3 ส. สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยง การใส่ใจรับฟัง เติมพลังใจจากคนในครอบครัว จะเป็นพลังสำคัญในการช่วยผู้ป่วยจิตเวชให้หายทุเลา และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างบุคคลอื่นทั่วไปได้ 

 

สำหรับประเด็นสำคัญที่สุด คือการป้องกันและใส่ใจดูแลกันและกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตหรือเจ็บป่วยเป็นโรคทางจิตเวชในภาพรวมระบบบริการสุขภาพจิตของประเทศไทยถือว่ามีความก้าวหน้าเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน และเป็นต้นแบบที่ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติในหลายประเด็น

 

ทั้งเรื่องสุขภาพจิตโรงเรียน สุขภาพจิตชุมชน และการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญ ขอให้ประชาชนมั่นใจในบริการสุขภาพจิตของประเทศไทย และร่วมแรงร่วมใจกันในการสังเกตอาการ ดูแลจิตใจคนใกล้ตัวและในครอบครัว หากพบปัญหาต้องการเข้ารับการรักษา สามารถติดต่อได้ที่ Line Application Smile Connect หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง