ติดเชื้อโควิดเสี่ยงเป็นโรคทางสมอง-ระบบประสาทมากขึ้น 1.42 เท่า

23 ก.ย. 2565 | 08:34 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2565 | 15:34 น.

ติดเชื้อโควิดเสี่ยงเป็นโรคทางสมองและระบบประสาทมากขึ้น 1.42 เท่า หมอธีระเผยมีอัตราการเกิดเฉลี่ย 70 คนจาก 1,000 คน ณ 12 เดือน หรือประมาณ 7%

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ

 

อัพเดตความรู้ Long COVID

 

"แนวทางการดูแลผู้ป่วย Long COVID"

 

ล่าสุด Greenhalgh T และคณะ ได้เผยแพร่แนวทางการดูแลผู้ป่วย Long COVID ในวารสารการแพทย์ระดับโลก British Medical Journal เมื่อวานนี้ 22 กันยายน 2565

 

แนวทางนี้ครอบคลุมตั้งแต่การซักประวัติ ตรวจร่างกาย ประเมินปัจจัยเสี่ยง การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และแนวทางการดูแลรักษาและส่งต่อ 

 

"การติดเชื้อโรคโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางสมองและระบบประสาทในระยะยาว"

 

Xu E และคณะ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลวิจัยสำคัญในวารสารการแพทย์ระดับโลก Nature Medicine เมื่อวานนี้ 22 กันยายน 2565

โดยดูอัตราการเกิดโรคทางสมองและระบบประสาท ณ 12 เดือน ระหว่างกลุ่มคนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 154,068 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่เคยติดเชื้อ จำนวนกว่า 11 ล้านคน

 

ทั้งในช่วงเวลาเดียวกันและในอดีต จากฐานข้อมูล the US Department of Veterans Affairs ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรสูงอายุ อายุเฉลี่ยราว 60 ปี (±15 ปี) และเป็นเพศชายราว 90%

 

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการผิดปกติทางสมองและระบบประสาท มากกว่าคนที่ไม่เคยติดเชื้อถึง 1.42 เท่า

 

โดยมีอัตราการเกิดเฉลี่ย 70 คนจาก 1,000 คน ณ 12 เดือน หรือราว 7%
ปัญหาทางสมองและระบบประสาทนั้นเกิดได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อที่แล้วอาการน้อย และที่อาการรุนแรง

 

ติดเชื้อโควิดเสี่ยงต่อโรคทางสมองและระบบประสาทมากขึ้น 1.42 เท่า

 

เกิดได้ตั้งแต่อาการผิดปกติด้านความคิดความจำ อารมณ์ หลอดเลือดสมองแตกตีบตัน สมองอักเสบ ชัก ไมเกรน การรับรู้ความรู้สึกที่ผิดปกติ และอื่นๆ

 

ผลการวิจัยนี้ตอกย้ำให้เราตระหนักถึงผลกระทบระยะยาวหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 เพราะก่อนหน้านี้ก็มีงานวิจัยที่พิสูจน์ให้เห็นความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดแม้จะผ่านไป 12 เดือนหลังจากติดเชื้อก็ตาม และงานวิจัยนี้ก็เพิ่มเติมให้เห็นว่าเกิดความเสี่ยงต่อสมองและระบบประสาทด้วยเช่นกัน
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวเสมอ ไม่หลงต่อกิเลสหรือการชี้นำผิดๆ ว่าจะใช้ชีวิตปกติแบบในอดีต เพราะการระบาดของโรคยังมีอยู่มาก 

 

ติดแล้วไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ตายได้ และเกิดปัญหา Long COVID ได้ แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม 

 

ดังนั้นพฤติกรรมตัวและความใส่ใจสุขภาพของตัวเราเองจึงมีความสำคัญมาก
ใส่หน้ากาก ใส่อย่างถูกต้อง หากติดเชื้อควรแยกตัวจากคนอื่นตามความรู้ทางการแพทย์ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว การที่ติดเชื้อแล้วออกไปใช้ชีวิต โอกาสป้องกันการแพร่เชื้อจะเป็นไปได้ยากมาก และจะนำไปสู่การเจ็บป่วย และความสูญเสียตามมาได้

 

คนที่ป่วย ควรบอกคนใกล้ชิดทั้งที่บ้านและที่ทำงาน และแยกตัวจากคนอื่น รักษาตัวให้หายดีเสียก่อน

 

เจ้าของกิจการ ควรใส่ใจดูแลบุคลากร ไม่ควรให้คนป่วยทำงาน เพราะเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่เชื้อให้กับบุคลากรในที่ทำงาน ลูกค้าหรือผู้มารับบริการ เกิดความสูญเสีย และกระทบต่อภาพลักษณ์ชื่อเสียงของกิจการในที่สุด  

 

ทุกคนควรระลึกถึงบทเรียนในรอบปีกว่าที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้น และเพราะเหตุใด 

 

ควรป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นมาอีก