เตือน! โอมิครอนแพร่เชื้อทางละองฝอยได้มากที่สุด น่ากลัวแค่ไหน อ่านเลย

19 ส.ค. 2565 | 09:12 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2565 | 16:12 น.

เตือน! โอมิครอนแพร่เชื้อทางละองฝอยได้มากที่สุด น่ากลัวแค่ไหน อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระเผยงานวิจัยทีมงานจากมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ

 

อัพเดตความรู้โควิด-19

 

"ปริมาณไวรัสในละออกฝอยจากสายพันธุ์ Omicron" (โอมิครอน)

 

ทีมงานจากมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาปริมาณไวรัสที่ออกมากับละอองฝอยขนาดเล็กและใหญ่ ผ่านทางการไอ จาม ตะโกน หรือร้องเพลง จากผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ 

 

ข้อมูลเผยแพร่ใน medRxiv เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และในวารสาร Nature เมื่อ 17 สิงหาคม 2565

 

สาระสำคัญคือ คนที่ติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron นั้นจะมีปริมาณไวรัสในละอองฝอยจากน้ำลายน้ำมูกสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ อย่างชัดเจน (เป็นเหตุผลที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่าระลอกล่าสุดจาก Omicron จึงมีการติดเชื้อกันจำนวนมากกว่าระลอกก่อนๆ)

โดยในกลุ่มที่ติดเชื้อ Omicron พบว่า ละอองฝอยขนาดเล็กจะมีปริมาณไวรัสมากกว่าขนาดใหญ่ถึง 5 เท่า

 

งานวิจัยนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า โควิด-19 นั้นติดเชื้อแพร่เชื้อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ การป้องกันตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ การหลีกเลี่ยงที่แออัดและระบายอากาศไม่ดี รวมถึงการปรับสภาพแวดล้อมให้ถ่ายเทอากาศดีขึ้น ถือเป็นหัวใจสำคัญ

 

"สรุป Long COVID จาก WHO webinar"

 

องค์การอนามัยโลกเพิ่งจัด webinar ไปเมื่อวานซืน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทั้งอเมริกาและยุโรปมาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กัน

 

โอมิครอนแพร่เชื้อทางละองฝอยได้มากที่สุด

 

สาระสำคัญที่อยากมาเล่าสู่กันฟังคือ

 

หนึ่ง คาดประมาณว่า กลุ่มเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 อายุน้อยกว่า 20 ปีลงมา จะประสบปัญหา Long COVID อยู่ขณะนี้ราว 2.8% (ช่วงความเชื่อมั่น 0.9%-7%)

 

แม้จะดูตัวเลขเปอร์เซ็นต์น้อย แต่หากดูจำนวนจริงที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็จะมีปริมาณมาก เพราะเกิดการติดเชื้อจำนวนมาก

หากคิดเป็นจำนวนปีที่สูญเสียจากทุพพลภาพ (Years lost due to disability: YLD) พบว่าในปี 2021 Long COVID ในเด็กนั้นสร้างความสูญเสียใกล้เคียงกับโรคลมชัก และออทิสติก 

 

สอง กลุ่มผู้ใหญ่ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปนั้น เพศหญิงประสบปัญหา Long COVID มากกว่าเพศชาย 2 เท่า 

 

โดยเพศหญิง 10.6% (ช่วงความเชื่อมั่น 4.3%-22.2%) และเพศชาย 5.4% (ช่วงความเชื่อมั่น 2.2%-11.7%)

 

สาม น้ำหนักของภาวะทุพพลภาพที่เกิดจาก Long COVID (Disability weight) ที่ใช้ในการประเมินนั้น พอๆ กับภาวะสูญเสียการได้ยิน (complete hearing loss) หรือภาวะบาดเจ็บของสมองอย่างรุนแรง (severe traumatic brain injury)

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นประเมินเฉพาะกลุ่มอาการหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ อาการในระบบทางเดินหายใจ ปัญหาด้านสมองเกี่ยวกับความคิดความจำและสมาธิ และกลุ่มอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้า ปวดตามร่างกาย และความผิดปกติด้านอารมณ์

 

โดยยังไม่ได้นับรวมผู้ป่วย Long COVID ที่มีอาการอื่นที่พบบ่อยและกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาการนอนหลับ ผมร่วง การสูญเสียสมรรถนะการดมกลิ่น เป็นต้น 

 

ดังนั้นตัวเลขที่ประเมินจึงอาจต่ำกว่าความเป็นจริงพอสมควร

 

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เราเห็นว่า ปัญหา Long COVID นั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับทั่วโลก 

 

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

 

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอเป็นเรื่องที่จำเป็น