ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อโควิด หายแบบไม่มีลองโควิดคือโชคดี เพราะอะไร เช็คเลย

18 ส.ค. 2565 | 13:41 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2565 | 20:41 น.

ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อโควิด หายแบบไม่มีลองโควิดคือโชคดี เพราะอะไร เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ ดร.อนันต์เผยผลวิจัยชิ้นล่าสุดของทีมสิงคโปร์

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า   

 

ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนโควิดแล้วเผลอไปติดเชื้อมา ถ้าหายแล้วและไม่มีอาการ Long COVID จะถือว่าเป็นผู้ที่โชคดี 

 

เพราะภูมิคุ้มกันบริเวณที่ภูมิจากวัคซีนไปไม่ถึงที่ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน 

 

หรือในจมูกของเราจะได้รับภูมิที่ธรรมชาติให้มา และเนื่องจากจมูกเป็นส่วนของร่างกายที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการติดเชื้อและเพิ่มจำนวนของไวรัสการที่มีภูมิคุ้มกันที่พร้อมรบ 

 

ภูมิดังกล่าวที่ได้มาก็จะช่วยเรารบในการติดเชื้อซ้ำครั้งต่อไป ถึงแม้จะเกิดขึ้นได้อีก การเพิ่มจำนวนของไวรัสก็จะไม่มากเท่าเดิม
 

หลังติดเชื้อนอกจากในจมูกของเราจะมีแอนติบอดีชนิด IgA รอจับไวรัสในจมูกแล้ว 

 

งานวิจัยชิ้นล่าสุดของทีมสิงคโปร์นำเซลล์ในเยื่อจมูกของผู้ที่ได้รับวัคซีน กับ ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วติดเชื้อไปเปรียบเทียบดูพบว่า

 

ผู้ที่เคยสัมผัสกับไวรัสตัวจริงในบริเวณจมูกมีเม็ดเลือดขาว T cell ที่จำโปรตีนของไวรัสได้หลายชนิด ที่ไม่จำกัดแค่โปรตีนสไปค์เท่านั้น 

 

เม็ดเลือดขาวเหล่านี้ถ้าไปเจอเซลล์ที่มีโปรตีนที่จำได้อีกครั้งก็จะเข้าทำลายไม่ให้ไวรัสมีเวลาเพิ่มจำนวนได้มากมายเหมือนก่อนที่ตำแหน่งในจมูกนั้นเอง 

 

ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อโควิด หายแบบไม่มีลองโควิดคือโชคดี

 

ทีมวิจัยพบว่าในบรรดาโปรตีนที่ T cell ในจมูกจำได้แม่น และจำนวนเยอะที่สุดคือ 

 

โปรตีนชื่อว่า Nsp12 ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไม่ได้อยู่ในวัคซีนสูตรใดๆ ถ้าไม่เคยติดเชื้อเราไม่มีทางมี T cell ที่รู้จักโปรตีนตัวนี้ 
 

ที่สำคัญคือ ไม่ว่าไวรัสจะกลายพันธุ์หนีภูมิอย่างไร Nsp12 ดูเหมือนจะอยู่นิ่งมาก ไม่เปลี่ยนแปลงไปเหมือนสไปค์ ดังนั้นสิ่งที่ T cell จำได้ก็จะใช้งานได้อยู่

 

แต่น่าเสียดายที่ T cell ในจมูกหลังติดเชื้อลดลงไปตามกาลเวลาเหมือนแอนติบอดี 

 

ทีมวิจัยพบว่า ระดับของ T cell ยังไม่เปลี่ยนแปลง 3 เดือนหลังติดเชื้อแต่พอดูอีกทีที่ 6 เดือนพบว่า ระดับลดลงไปมากกว่าครึ่ง 

 

ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่เห็นคนติดเชื้อซ้ำแล้วมีอาการได้หลังจากติดเชื้อไปนานๆแล้วนั่นเอง