โอมิครอน BA.5 ฉีดวัคซีน-เคยติดเชื้อป้องกันไม่ได้ เพราะอะไร เช็คเลย

12 ส.ค. 2565 | 08:29 น.
2.1 k

โอมิครอน BA.5 ฉีดวัคซีน-เคยติดเชื้อป้องกันไม่ได้ เพราะอะไร เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระชี้การป้องกันตัวระหว่างดำรงชีวิตประจำวันสำคัญมาก

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ

 

สรุปความรู้ปัจจุบันเรื่อง Omicron (โอมิครอน) BA.5

 

ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนๆ มาแล้วก็ตาม

 

ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนมาแล้วก็ตาม

 

จะพบว่ามีโอกาสป้องกันการติดเชื้อ Omicron BA.4 BA.5 และ BA.2.12.1 ได้น้อย 

 

เพราะการดื้อต่อภูมิคุ้มกันของสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ และภาวะการจดจำร่องรอยการติดเชื้อเก่าของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่เรียกว่า Antigenic Sin

 

ดังนั้น การป้องกันตัวระหว่างดำรงชีวิตประจำวันจึงสำคัญมาก

 

ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ

 

หมอธีระยังโพสต์ด้วยว่า 

 

อัพเดตความรู้สำคัญเรื่อง Long COVID

 

ทีมวิจัยจาก Yale School of Medicine นำโดย Prof.Iwasaki ได้เผยแพร่ผลการศึกษาสำคัญเรื่อง Long COVID ใน medRxiv เมื่อวานนี้ 10 สิงหาคม 2565

 

โอมิครอน BA.5 ฉีดวัคซีน-เคยติดเชื้อป้องกันไม่ได้

 

หากเราจำกันได้ ความรู้ในช่วงที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวนมากทั่วโลก ที่ประสบปัญหาอาการผิดปกติเรื้อรังยาวนาน Long COVID เกิดขึ้นที่หลากหลายระบบในร่างกาย กระทบทั้งสมรรถนะทางกาย จิตใจ/อารมณ์ 

 

และเคยมีการศึกษามากมายชี้ให้เห็นสมมติฐานที่อธิบายสาเหตุของ Long COVID ว่า อาจเกิดจากเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ที่ถูกทำลายจากการติดเชื้อ (tissue damage from infection), การเสียสมดุลของเชื้อโรคในร่างกายจนนำไปสู่การทำงานของระบบต่างๆ ผิดปกติ (Dysbiosis), การทำให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง (Autoantibodies), และการมีภาวะติดเชื้อแบบถาวร (Persistent infection)

 

ล่าสุดงานวิจัยของทีมงานมหาวิทยาลัย Yale ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคนสุขภาพดี (HC) กลุ่มคนที่เคยมีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน (CC) และกลุ่มคนที่มีภาวะ Long COVID (LC)

สาระสำคัญที่ค้นพบคือ

 

หนึ่ง ลักษณะของภูมิคุ้มกันแอนติบอดี้และภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ที่เกิดขึ้นนั้น ชี้ให้เห็นว่า คนที่มีปัญหา Long COVID มีลักษณะภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ โดยมีแนวโน้มว่าจะเกิดจากการที่ถูกกระตุ้นจากเชื้อหรือชิ้นส่วนของเชื้ออย่างต่อเนื่องเรื้อรัง 

 

สิ่งที่พบนี้ชี้ไปในทางที่เกิดภาวะ persistent infection หรือมีชิ้นส่วนของเชื้อหรือสารพันธุกรรมคงค้างในร่างกายอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

 

สอง กลุ่มผู้ป่วย Long COVID มี Autoantibodies ไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ 

 

สิ่งที่พบนี้ชี้ให้เห็นว่าสมมติฐานเรื่อง Autoantibodies อาจมีน้ำหนักน้อยลง
สาม กลุ่มผู้ป่วย Long COVID มีระดับภูมิคุ้มกันที่ชี้ให้เห็นว่าเกิดกระบวนการกระตุ้น (reactivation) ของไวรัสกลุ่ม Herpesvirus อาทิ Epstein-Barr virus และไวรัสงูสวัด (Varicella Zoster virus)

 

และสุดท้ายสำคัญมากคือ 

 

สี่ กลุ่มผู้ป่วย Long COVID นั้นมีระดับฮอร์โมน Cortisol ในเลือดน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ 

 

การมีระดับฮอร์โมน cortisol ต่ำนี้ ทีมวิจัยเชื่อว่าจะมีประโยชน์ในกระบวนการวินิจฉัยภาวะ Long COVID ได้ เพราะมีอำนาจการทำนายสูง 

 

อย่างไรก็ตาม การนำมาใช้วินิจฉัยทางคลินิก จำเป็นต้องคำนึงถึงโรคอื่นๆ ที่ผู้ป่วยอาจมีอยู่เดิม และส่งผลต่อภาวะพร่องฮอร์โมนดังกล่าวด้วย 

 

ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยทั่วโลกที่กำลังพยายามทำกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้เราสามารถเข้าใจธรรมชาติของภาวะ Long COVID หาสาเหตุหรือกลไกที่อธิบายการเกิดภาวะผิดปกตินี้ และนำไปสู่การหาวิธีวินิจฉัย และวางแผนดูแลรักษาได้อย่างจำเพาะเจาะจง คงต้องมีการติดตามอัพเดตกันอย่างสม่ำเสมอ

 

ด้วยความรู้จนถึงปัจจุบัน ทำให้เราตระหนักได้ว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นไม่ได้จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ และที่สำคัญคือ เสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติระยะยาว

 

Long COVID เป็นของจริง และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทำให้เกิดความผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย

 

การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

 

สถานการณ์ระบาดของไทยยังมีการติดเชื้อแพร่เชื้อกันมากมายในแต่ละวัน ตัวเลขที่รายงานประจำวันนั้นต่ำกว่าสถานการณ์ติดเชื้อที่เกิดขึ้นจริงเพราะแจ้งแต่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล