โควิด19 ยังเป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้ แต่เป็นโรคติดต่ออันตราย เพราอะไร เช็คเลย

10 ส.ค. 2565 | 10:03 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2565 | 17:16 น.
3.3 k

โควิด19 ยังเป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้ แต่เป็นโรคติดต่ออันตราย เพราอะไร เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยชี้โควิดในอนาคต จะถือว่าเป็นโรคติดต่ออยู่ในกลุ่มใด ไม่ใช่เกิดจากการทำนายหรือการคาดการณ์

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

โควิด-19 ของไทย ยังไม่เป็นโรคประจำถิ่น ยังไม่เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ยังคงเป็นโรคติดต่ออันตราย

 

ตามที่สถานการณ์โควิดของประเทศไทย ได้เข้าสู่ระลอกที่ 4 ซึ่งเกิดจากไวรัสโอมิครอนตั้งแต่มกราคม 2565

 

เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับสถานการณ์โควิดระลอกที่ 3 ซึ่งเกิดจากไวรัสเดลตาเมื่อช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564

 

จะพบชัดเจนว่า สถานการณ์ของโควิดในปัจจุบัน มีการติดเชื้อง่าย มีจำนวนผู้ติดเชื้อจากไวรัสโอมิครอนมากกว่าไวรัสเดลตาถึง 2 เท่าตัว คือติดเชื้อจากเดลตา 2 ล้านคนเศษ ส่วนติดเชื้อจากโอมิครอนมีมากกว่า 4 ล้านคนแล้ว

 

ส่วนในเรื่องความรุนแรง ไวรัสเดลตาทำให้เป็นโควิดเสียชีวิตมากกว่า 20,000 คน ในขณะที่โอมิครอนเสียชีวิตประมาณ 10,000 คน

จึงสามารถกล่าวได้ว่า ไวรัสโอมิครอนติดเชื้อง่าย แพร่ระบาดกว้างขวางมากกว่า แต่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงน้อยกว่าไวรัสเดลตา

 

อย่างไรก็ตาม เราพบว่าจำนวนผู้ป่วยหนักที่มีปอดอักเสบ จำนวนผู้ป่วยหนักมากที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงสองสามเดือนหลังจากผ่านจุดสูงสุดมานั้น ไม่ได้ลดลงตามที่เราคาดหวังไว้ และกลับมีการขยับตัวเพิ่มขึ้นด้วย

 

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในสัปดาห์ที่ 10-16 กรกฎาคม 2565 เปรียบเทียบกับ 31 กรกฎาคมถึง 6 สิงหาคม 2565 พบว่า

 

ผู้ติดเชื้อรวมทั้ง PCR และ ATK เพิ่มขึ้น 58.8% จากติดเชื้อวันละ 22,542 ราย เป็น 35,800 ราย

 

โควิด19 ยังเป็นโรคติดต่ออันตราย

 

โดยแยกเป็นผู้ติดเชื้อจาก ATK เพิ่ม ขึ้น 63.9% จากวันละ 20,547 คน เป็น 33,679 คน

 

ส่วนผู้ติดเชื้อจาก PCR เพิ่มขึ้นเพียง 6.3% จาก 1995 ราย เป็น 2121 ราย

 

ผู้ป่วยหนักมีอาการปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 16.4%

 

ผู้ป่วยหนักมาก ใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่ม 36.5%

 

ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20.8%

นอกจากนั้นยังพบว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2565 เราฉีดไปได้เพียง 44.9% หรือ 31.2 ล้านโดส

 

ยังห่างจากเป้าหมายที่จะเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ได้ 60% หรือ 42 ล้านโดส อยู่อีกราว 10 ล้านโดส

 

ซึ่งด้วยอัตราการฉีดวัคซีนในขณะนี้ จะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน จึงจะสามารถทำตามเป้าหมายได้

 

ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทางสาธารณสุข  ไม่สามารถประกาศการเป็นโรคประจำถิ่นของโควิด-19 ตามที่ได้เคยส่งสัญญาณสาธารณะไว้ว่าน่าจะเป็นได้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565

 

และในขณะนี้ก็เริ่มมีการส่งสัญญาณสาธารณะอีกครั้ง คาดว่า 1 ตุลาคม 2565 อาจจะปรับโควิดจากโรคติดต่ออันตรายไปเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด

 

กล่าวโดยสรุป

 

โควิดของไทย ณ ปัจจุบัน (9 สิงหาคม 2565) ยังถือว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย 

 

ยังไม่นับเป็นเป็นโรคประจำถิ่น

 

และยังไม่ถือว่าเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

 

ส่วนโควิดในอนาคต จะถือว่าเป็นโรคติดต่ออยู่ในกลุ่มใด ไม่ใช่เกิดจากการทำนายหรือการคาดการณ์ หากแต่เกิดจากข้อมูลข้อเท็จจริงหรือสถานการณ์จริง ซึ่งเมื่อเป็นอย่างไร ก็จะเป็นอย่างนั้น