เปิดแล้ว "แดชบอร์ด สปสช." มีข้อมูลระบบบัตรทองอะไรบ้าง เช็คเลย

11 ส.ค. 2565 | 10:31 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2565 | 17:36 น.

สปสช.เปิดตัว "แดชบอร์ด สปสช." ประชาชน หน่วยบริการและนักวิจัย เข้าถึงข้อมูลระบบบัตรทอง พร้อมจับมือ “เนคเทค” รับแจ้งปัญหาบัตรทองผ่าน “Traffy Fondue”

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดตัว "แดชบอร์ด สปสช." พร้อมจับมือเนคเทค รับจังปัญหาใช้สิทธิบัตรทอง ผ่านแพล็ตฟอร์ม Traffy Fondue เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า แต่ละปี สปสช. ได้รับจัดสรรงบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท และมีฐานข้อมูลการให้บริการด้านสุขภาพขนาดใหญ่มาก มีข้อมูลบริการผู้ป่วยนอกกว่า 200 ล้านเรคคอร์ดต่อปี ข้อมูลผู้ป่วยในประมาณ 8 ล้านเรคคอร์ด/ปี และถือเป็นหน้าที่ สปสช. ที่จะต้องสร้างความโปร่งใสการจัดสรรและใช้งบประมาณ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแดชบอร์ด สปสช.

เปิดแล้ว \"แดชบอร์ด สปสช.\" มีข้อมูลระบบบัตรทองอะไรบ้าง เช็คเลย

 

นอกจากสรุปข้อมูลการบริหารหลักประกันสุขภาพ แล้ว ยังเป็นการคืนข้อมูลแก่สังคม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ทั้งการศึกษาวิจัย กำกับติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยบริการ พัฒนาคุณภาพการบริการ หรือกำหนดนโยบายด้านสุขภาพ

 

แดชบอร์ด สปสช. เป็นการนำข้อมูลบริการที่หน่วยบริการส่งเบิกมาที่ สปสช. บวกกับข้อมูลบางส่วนที่บูรณาการมาจากกระทรวงสาธารณสุข มาผ่านกระบวนการ cleansing แล้วสรุปข้อมูลอินโฟกราฟฟิก โดยมีรายการข้อมูล ดังนี้ คือ

1.บริการกรณีโควิด-19

 

2.บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

 

3.บริการโรคไตวายเรื้อรัง

 

4.บริการผู้ป่วยเบาหวาน/ความดันโลหิตสูง

 

5.บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่

 

6. บริการTele-medicine

 

7.บริการมะเร็งรักษาทุกที่

 

8.บริการการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์

 

แต่ละหัวข้อผู้ใช้งานแดชบอร์ดสามารถเข้าไปดูรายละเอียดต่างๆ ทั้งภาพรวมในระดับประเทศ เขต จังหวัด หรือแม้แต่รอำเภอ โดยจะอัพเดทข้อมูลรายวัน

 

ทั้งนี้ เป้าหมายผู้ใช้แดชบอร์ดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

 

  • ประชาชนทั่วไป

 

  • หน่วยบริการ

 

  • นักวิจัย

 

สามารถนำไปใช้ประโยชน์หลากหลายรูปแบบ เช่น หน่วยบริการสามารถนำข้อมูลไปพัฒนาระบบบริการหรือกำกับติดตามคุณภาพบริการ หรือเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายค่าบริการ รวมทั้งสามารถดูการบริการทั้งในพื้นทีเดียวกันและจังหวัดอื่น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นต้น ขณะที่หน่วยงานนโยบาย เช่น กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพ สามารถนำข้อมูลไปกำกับติดตามประเมินผลหน่วยงานในสังกัด ทั้งในภาพรวมทั้งประเทศ หรือรายพื้นที่ก็ได้

 

ส่วนหน่วยงานวิชาการ เดิมทีนักวิจัยที่ต้องการใช้ข้อมูลของ สปสช. ต้องทำหนังสือขอทุกครั้ง แต่เมื่อมีแดชบอร์ดแล้วก็สามารถเข้าดูและนำข้อมูลไปใช้ได้เลย ส่วนประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่า งบประมาณบัตรทองแต่ละปีนถูกนำไปใช้อย่างไร เบิกจ่ายเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่ ประชาชนเข้าถึงบริการมากน้อยแค่ไหน แต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร เป็นต้น และยังทราบข้อมูลของพื้นที่ต่างๆ ด้วยว่า มีหน่วยบริการตั้งอยู่ไหน มีบริการอะไรบ้าง เป็นต้น

 

"ขณะนี้ สปสช. เปิดบริการข้อมูลแดชบอร์ดแล้ว โดยแดชบอร์ดของหน่วยบริการจะดูได้ทุกรายการ เพราะคุ้นเคยกับศัพท์เทคนิคอยู่แล้ว แต่ในส่วนแดชบอร์ดของประชาชนจะทยอยขึ้นข้อมูลในบางรายการก่อน ได้แก่ บริการสร้างเสริมสุขภาพ ไตวายเรื้อรัง การเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ และบริการกรณีโควิด เป็นต้น ส่วนที่เหลือยู่ระหว่างการปรับข้อความเพื่อให้ดูเข้าใจได้ง่าย" นพ.จเด็จ กล่าว และว่า ทั้งนี้ แดชบอร์ด สปสช. จะมีแบนเนอร์ติดไว้ในหน้าแรกของเว็บไซต์ สปสช. ผู้ที่ต้องการใช้งานสามารถคลิกที่แบนเนอร์แล้วเข้าสู่ระบบแดชบอร์ดได้ทันที

 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากการเปิดตัวแดชบอร์ด สปสช.แล้ว สปสช. ได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) นำแพลตฟอร์ม Traffy Fondue มาใช้ในการดำเนินงานรับเรื่องร้องเรียนในระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางรับแจ้งปัญหาการรับบริการในระบบบัตรทอง นอกจากสายด่วน 1330 โดยเปิดรับเรื่องร้องเรียนอย่างเป็นทางการใน10 ส.ค. 65

 

ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยจากเนคเทค กล่าวว่า Traffy Fondue เหมือนกับไลน์ที่ประชาชน Add เป็นเพื่อนได้ เพื่อแจ้งปัญหาของเมือง โดยระบบจะส่งเรื่องที่รับแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบและแก้ไขปัญหา จากที่ กทม. ได้ใช้งานเต็มรูปแบบ มีประชาชนแจ้งเรื่องกว่า 1.2 แสนเรื่อง ได้รับการแก้ปัญหา 6 หมื่นเรื่อง นอกจากนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 60 จังหวัด ก็ใช้ Traffy Fondue รับแจ้งปัญหาเช่นกัน โดยแยกการรับแจ้ง 14 หัวข้อ ได้แก่ ความสะอาด ขยะ ไฟฟ้า ประปา จุดเสี่ยง ฯลฯ ล่าสุดได้ร่วมมือกับ สปสช. เพิ่มการรับแจ้งเรื่อง "สุขภาพและบัตรทอง" เพื่อให้ผู้สิทธิบัตรทองที่ไปรับบริการแล้วติดขัดปัญหา สามารถแจ้งมาที่ไลน์ Traffy Fondue ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ สปสช. ที่คอยรับเรื่องจะแก้ปัญหาให้

 

"เลขา สปสช. เห็นว่าแพล็ตฟอร์มนี้จะช่วยให้ผู้ประสบปัญหาใช้สิทธิบัตรทองและผู้แก้ปัญหารได้เจอกันได้เร็ว และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน พูดคุยในไลน์ซึ่งทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้ว" ดร.วสันต์ กล่าว

 

ทั้งนี้ จากนำร่องตั้งแต่ 11 ก.ค. 2565 มีการแจ้งเข้า 181 เรื่อง สอบถามสิทธิบัตรทอง 72 เรื่อง ร้องเรียนความไม่สะดวกรับบริการ/ถูกเก็บเงิน 2 เรื่อง ซึ่งแก้ไขแล้ว นอกนั้นเป็นข้อเสนอแนะ 9 เรื่อง และเรื่องหน่วยงานอื่น 97เรื่อง ซึ่งเรื่องรับแจ้งจะรายงานไปที่ สปสช.ส่วนกลาง แต่ 10 ส.ค. 65 เป็นต้นไป เมื่อมีการแจ้งเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพและบัตรทองเข้ามาแล้ว ข้อมูลจะส่งต่อไปยังเขตที่ดูแลปัญหานั้นเลยโดย ซึ่งแก้ปัญหาจะรวดเร็วขึ้นไปอีก

 

"การใช้งานก็เพียงพิมพ์ข้อความเหมือนคุยไลน์กับเพื่อน ไม่ต้องกรอกแบบฟอร์ม ระบบจะสอบถามข้อมูลเพิ่ม ท่านก็ตอบกลับมา โดยข้อมูลจะถูกส่งต่อไปที่ สปสช. เพื่อแก้ปัญหา และเมื่อมีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาจนแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ระบบจะแจ้งมายังไลน์ของผู้แจ้งทุกครั้ง ถ้าเป็นปัญหาที่พบเจอบ่อยๆ สปสช.ก็จะนำไปปรับปรุงการเข้าถึงบริการหรือเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่อไป"ดร.วสันต์ กล่าว