สัญญาณเตือน"มะเร็งปอด" โรคร้ายที่ไม่ควรมองข้าม

27 ก.ค. 2565 | 16:07 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2565 | 00:26 น.

รู้จัก"มะเร็งปอด" โรคร้ายคร่าชีวิต"น้าเฉื่อย ระเบิดเถิดเทิง" เช็คเลยสัญญาณเตือน อาการบ่งชี้มีอะไรบ้าง แนวทางการรักษา พร้อมทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค

ข่าวเศร้าของวงการบันเทิงในวันนี้ คือการสูญเสียดารานักแสดงตลก "น้าเฉื่อย ระเบิดเถิดเทิง" ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย โดยในปีนี้วงการบันเทิงไทยต้องสูญเสียดารานักแสดงด้วยโรคมะเร็งปอดไปแล้วหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น วิทยา ศุภพรโอภาส ,เอก-สรพงษ์ ชาตรี และ ต้อย-เศรษฐา ศิระฉายา

 

วันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จึงขอรวบรวมข้อมูลข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคร้ายนี้ ว่ามีอาการบ่งชี้ สัญญาณเตือนแบบไหนบ้าง  การรักษามีกี่วิธี ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคนี้  ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยง ป้องกัน ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายนี้

มะเร็งปอดพบมากที่สุดในโลก

สำหรับโรคมะเร็งปอดนั้น ถือเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย และพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 17,222 ราย เป็นเพศชาย 10,766 ราย และเพศหญิง 6,456 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,586 ราย หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน


ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอด

  • การสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสอง
  • การสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 


 

มะเร็งปอดมีสัญญาณเตือน 

  • อาการไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด 
  • หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ มีเสียงหวีด
  • เจ็บหน้าอก 
  • ปอดติดเชื้อบ่อย
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย 

 

การรักษา

  • การผ่าตัด 
  • การฉายรังสี 
  • การให้ยาเคมีบำบัด 
  • การรักษาแบบเฉพาะทาง

 

สัญญาณเตือน"มะเร็งปอด" โรคร้ายที่ไม่ควรมองข้าม

 

 

 

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะมีอาการแต่ก็มักไม่จำเพาะจึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้ามีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย 

 

ทั้งนี้ในการรักษาในแต่ละแบบ แพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และการกระจายตัว รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพในระดับประชากร แต่มีคำแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี 

 

"การป้องกันมะเร็งปอด จากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคลงได้"

 

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ