แนะ 6 วิธีรับมือก่อนเป็น "โรคฮีทสโตรก" ในภาวะอากาศร้อนจัด

31 มี.ค. 2566 | 10:55 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2566 | 10:58 น.
4.2 k

เปิด 6 วิธีรับมืออากาศร้อนจัดก่อนเป็น "ฮีทสโตรก" หรือ "โรคลมแดด" ปฏิบัติและทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง พร้อมสังเกตอาการสัญญาณเตือนล่วงหน้า

จากกรณีการเสียชีวิตของ "เอ๋ -ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม" อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ และนักธุรกิจชื่อดัง ภายหลังถูกนำตัวส่ง รพ.บุรีรัมย์ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งรายงานระบุว่า เกิดจากภาวะ "ฮีทสโตรก" (Heat Stroke) หรือ โรคลมแดด ขณะซ้อมแข่งรถยนต์ที่สนามช้างอินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ นั้น 

โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือ โรคลมแดด เกิดขึ้นกับเราได้ทุกคนและหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมหรือมองหาวิธีรับมือก่อนเกิดอาการดังกล่าวจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดย กรมควบคุมโรค มีคำแนะนำและวิธีปฏิบัติตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์อากาศร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มาฝากพร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือ โรคลมแดด ดังนี้

สำหรับ โรคฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด นั้น เป็นภาวะวิกฤติที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกาย จากผลของสภาพอากาศที่ร้อนจัดซึ่งบางพื้นที่อาจสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส

หากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ต่อเนื่องจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียสจะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ซึ่งสังเกตเห็นได้ ดังนี้ 

  • เกิดอาการปวดศีรษะ
  • หน้ามืด
  • เพ้อ
  • ชัก
  • ไม่รู้สึกตัว
  • หายใจเร็ว
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ช็อก
  • หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้

สัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคฮีทสโตรก

  • ไม่มีเหงื่อออก แม้จะอากาศร้อน
  • หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ  
  • รู้สึกกระหายน้ำมาก
  • วิงเวียน
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • หายใจเร็ว
  • อาเจียน
  • เกร็งกล้ามเนื้อ
  • ชัก
  • มึนงง
  • สับสน
  • รูม่านตาขยาย
  • ความรู้สึกตัวลดน้อยลง อาจหมดสติ
  • หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น และถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งแตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่วๆ ไปที่จะมีเหงื่อออกด้วย

หลักปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคจากอากาศร้อนจัด

  1. สวมเสื้อหลวม น้ำหนักเบา และสีอ่อน ๆ
  2. เลี่ยงการโดนแดดโดยตรง เช่น การสวมหมวกโดยเฉพาะหมวกแบบมีปีก สวมแว่นกันแดด ใช้ครีมกันแดดไม่ต่ำกว่า SPF15 และให้ทาบ่อยขึ้นถ้ามีเหงื่อออกหรือว่ายน้ำ
  3. ดื่มน้ำให้มาก
  4. ผู้ที่รับประทานยาที่มีความเสี่ยง ทำให้เกิดโรคจากอากาศร้อนมากขึ้น ควรระวังให้มากกว่าปกติ
  5. อย่าอยู่หรือปล่อยให้คนใกล้ตัวอยู่ในรถที่จอดไว้กลางแดด โดยเฉพาะต้องระวังให้ดีอย่าลืมเด็กไว้ในรถ
  6. ถ้าหลีกเลี่ยงการทำงาน หรือออกกำลังกายกลางแดดไม่ได้ ก็ควรใช้เวลาอยู่กลางแดดให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้