ไข้หวัดใหญ่ระบาด ป่วยสะสม 1.3 แสนคน เช็ก 10 จังหวัดป่วยพุ่ง

26 ก.พ. 2568 | 03:00 น.

กรมควบคุมโรค อัพเดตสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดตั้งแต่ 1 ม.ค.-24 ก.พ. 68 พบป่วยสะสม 131,826 ราย เสียชีวิต 12 คน พร้อมเปิดรายชื่อ 10 จังหวัดแรกอัตราป่วยสูงที่สุด

เกาะติดสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ล่าสุด โดยนายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 24 กุมภาพันธ์ 2568 มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 131,826 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 12 ราย

กลุ่มอายุที่พบมากสุด เป็นกลุ่มเด็กอายุ 5 - 9 ปี รองลงมาเป็นกลุ่ม อายุ 0 - 4 ปี และกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี ตามลำดับ

ภาคที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคเหนือ (258.44) รองลงมา คือ ภาคกลาง (222.48) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (175.88) และภาคใต้ (138.85)

จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 10 จังหวัดแรก ได้แก่

  • พะเยา (638.55)
  • ลำพูน (591.61)
  • เชียงราย (469.88)
  • ภูเก็ต (456.36)
  • เชียงใหม่ (443.04)
  • ลำปาง (374.70)
  • น่าน (341.83)
  • กรุงเทพมหานคร (331.85)
  • อุบลราชธานี (301.93)
  • นนทบุรี (290.59)

นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค

แนวโน้มผู้ป่วยรายสัปดาห์ในปีนี้สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2567) ในช่วงเวลาเดียวกันประมาณ 1.6 เท่า และสูงกว่าค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี โดยปี 2567 พบผู้ติดเชื้อทั้งปีรวม 668,027 ราย เสียชีวิต 51 ราย สายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุด คือ สายพันธุ์ A H1N1 (2009)

ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหากป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่แล้วอาจทำให้ เกิดภาวะแทรกซ้อน มีอาการรุนแรง และนำไปสู่การเสียชีวิต เช่น

  • ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
  • ผู้มีโรคประจำตัว
  • ผู้เป็นโรคอ้วน
  • หญิงมีครรภ์

คำแนะนำ

-ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เพื่อลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตและควรดูแลสุขภาพรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล

-ป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องเข้าไปในที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก

-ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ

-หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่บ้าน 3 - 7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

-การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อลดอาการรุนแรงจากโรค เน้นในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่

1. เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี 

2. ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 

3. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 

4. ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค

  • ปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • หอบหืด
  • หัวใจ
  • หลอดเลือดสมอง
  • ไตวาย
  • ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด
  • เบาหวาน 

5. ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 

6. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอ้วน 

7. หญิงตั้งครรภ์ ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป