UHosNet วอนบอร์ดเลือก เลขาฯ สปสช. คนใหม่ ต้องคุยก่อนออกนโยบาย

02 ก.พ. 2568 | 12:15 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2568 | 12:20 น.

UHosNet วอนบอร์ดฯเลือก "เลขาฯ สปสช." คนใหม่ ทำงานกับผู้มีส่วนร่วมได้จริง คุยก่อนประกาศนโยบาย ย้ำเป็นตำแหน่งสำคัญเหมือนเป็น "พ่อบ้าน" ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพจาก บอร์ดสปสช. สู่ระดับปฏิบัติ 

2 กุมภาพันธ์ 2568 รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ หรือ กลุ่ม UHosNet ให้สัมภาษณ์ถึงการสรรหา "เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)" คนใหม่ ว่า เลขาธิการ สปสช. เป็นตำแหน่งสำคัญเหมือนเป็นพ่อบ้านตำแหน่งนี้จึงสำคัญมากในการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) สู่ระดับปฏิบัติ 

ขณะเดียวยังเป็นผู้ผลักดันการงานจากระดับปฏิบัติการสู่ระดับนโยบายจากล่างสู่บนเช่นกันก่อนจะไปประกาศเป็นนโยบายจึงจำเป็นต้องมีการประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันวางระบบงาน ประเมิน ตรวจสอบให้รอบคอบก่อนโดยเฉพาะประเด็นเรื่องเงินทองด้วย

หากไม่กำกับอย่างถี่ถ้วนจะสามารถเกิดประเด็นปัญหาอย่างที่ผ่านมา เช่น กรณีปัญหากับคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ผ่านมา หรือการปรับระบบริการใน กทม. สถานพยาบาลเอกชนออกจากระบบบัตรทอง เพราะ ผู้ที่เดือดร้อนคนแรก คือ ประชาชน 

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า มุมมองของผู้ให้บริการ หรือ Provider เราเข้าใจถึงอำนาจตำแหน่งหน้าที่เลขาฯสปสช. ต้องชงเสนอบอร์ด โดยนโยบายต่าง ๆ ต้องประสานงาน เจรจา หาทางออกกับผู้เกี่ยวข้องว่าปฏิบัติได้จริง เช่น การกำหนดอัตราการจ่าย กระบวนการบริการ การส่งข้อมูล การกำกับ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน หลังจากประกาศบังคับใช้จะไปโทษบอร์ด สปสช.ไม่ได้เพราะคนที่เป็นเลขาธิการต้องรู้กระบวนการทั้งหมด

ไม่อยากให้มีสถานการณ์ที่กลุ่มผู้ให้บริการยกขบวนกันไปร้องเรียนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. หรือไม่อยากให้ รพ.ต้องมาทักท้วงนโยบายที่บอร์ดประกาศ เราควรนำเวลาที่มีค่าไปหารือว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์กว่าที่เป็นอยู่ และระบบบัตรทองจะยั่งยืน

"นี่เป็นความต้องการที่เราและประชาชนต้องการ เราอยากได้คนที่สามารถประสาน ทั้งนโยบายบอร์ด มาถึงส่วนที่เกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการประชาชน ลดรอยต่อ ไม่ทำให้ประชาชนสับสนทุกปี อยากได้เลขาธิการที่สามารถเข้าถึงและประสานได้ดีกับทุกฝ่าย และมีข้อสรุปที่ชัดเจน" รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ Provider กับทาง สปสช.แล้วหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในขั้นจัดตั้งคณะทำงาน นั่นเป็นเพียงหนึ่งกลไกให้ผู้เกี่ยวข้องในระบบบริการช่วยทำราบรื่นขึ้น แต่ชีวิตจริงของการทำงาน ต้องการประสานงานมากกว่านี้ เพื่อให้ คน รพ.ทำงานง่าย เจ้าหน้าที่ สปสช. อึดอัดใจน้อยกว่านี้ นั่นคือความหวัง

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีใบส่งตัว มีคำถามว่า ติดที่รพ.โรงเรียนแพทย์ยังต้องการ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ต้องไปถาม สปสช.ผู้ประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ ไม่เคยถามผู้ให้บริการแต่ไปออกนโยบายทันที อย่างมะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer Anywhere) อยู่ ๆ จะปรับเกณฑ์การเบิกจ่าย หากผู้ป่วยมะเร็งมีโรคร่วม เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ รพ.จะรักษาไม่ได้ ต้องส่งกลับไป รพ.ต้นทาง

ดังนั้น การที่ รพ.หลายแห่งออกมาทักท้วงนั้นก็เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถทำการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่มีโรคร่วมได้ในคราวเดียวกัน เพราะตามประกาศ สปสช.ใหม่ที่ให้มีผลวันที่ 1 ม.ค.2568 จะกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยที่มีโรคร่วมกับมะเร็ง เพราะ รพ.รับส่งต่อรักษาได้แต่มะเร็งเท่านั้นจึงออกมาทักท้วงกันเพื่อผู้ป่วยและเห็นว่า หากปล่อยไปเช่นนี้ระบบบริการมะเร็งจะไปไม่รอด

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวย้ำว่า คำสั่ง ประกาศต่าง ๆ ศักดิ์สิทธิ์ การจะออกนโยบาย ประกาศใด ๆ ขอให้ถามทางผู้ให้บริการตัวจริงว่าทำได้หรือไม่ด้วยและขอให้เลขาฯ คนใหม่ทำงานไปข้างหน้า ไม่ใช่ให้ รพ.บริการมาครึ่งปี ค่อยมากำหนดว่า จะจ่ายเงินอย่างไรย้อนหลัง ซึ่งเป็นกองทุนเดียวที่ปฏิบัติเช่นนี้

ต่างจากกรมบัญชีกลาง หากมีประกาศว่า จะเริ่ม 1 ม.ค.2568 แต่หนังสือออกล่วงหน้าตั้งแต่ ต.ค.2567 เพื่อให้ รพ.ต่าง ๆ เตรียมตัว ควรปรับการประสานงานให้หน่วยบริการได้เตรียมตัวโดยเฉพาะสถานพยาบาลเอกชนและคลินิก เขามีต้นทุน แต่จะไปจ่ายย้อนหลังในราคามัดมือชก มันไม่ยุติธรรม

"จริง ๆ ผมต้องขอชื่นชมกรมบัญชีกลางและประกันสังคม เพราะจะทำอะไร ประกาศอะไร เราคุยกันก่อน ปรึกษาหารือกันถึงการวางระบบบริการ เรามีตัวแทนเข้าประชุมแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆอย่างที่ชัดเจนมาโดยตลอดก่อนประกาศใช้นโยบาย กลับมาที่เรื่องการสรรหาเลขาธิการ สปสช. คนต่อไป

ขอวิงวอนให้บอร์ดโปรดสรรหา เลขาธิการผู้ที่จะสามารถทำงานกับผู้มีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลงลึกช่วยเจ้าหน้าที่หน้างานของ สปสช.เอง เพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง" ประธาน UHosNet กล่าว

UHosNet วอนบอร์ดเลือก เลขาฯ สปสช. คนใหม่ ต้องคุยก่อนออกนโยบาย

ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุดในการสรรหาเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ จากประกาศบอร์ดสรรหาเลขาธิการ สปสช.เพื่อพิจารณาคัดเลือกและแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า จากผู้สมัครทั้งหมด 5 รายชื่อผ่านการพิจารณาสรรหา จำนวน 3 ราย ซึ่งคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช.ได้มีมติเสนอรายชื่อบุคคลให้ บอร์ด สปสช. พิจารณาคัดเลือกและแต่งตั้งเป็น "เลขาธิการ สปสช." เรียงตามลำดับตัวอักษร ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ 

1. นายจเด็จ ธรรมธัชอารี 

2. นายดิเรก สุดแดน 

3. นางสาวอัจฉรา ละอองนวลพานิช