สอวช.เปิดแนวทางผลักดันธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

06 ก.พ. 2568 | 18:21 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2568 | 18:27 น.

สอวช.ร่วมการประชุม Thailand Synergy Forum 2025 เผยแนวทางขับเคลื่อนนโยบาย ผลักดันธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ผ่านการปลดล็อกข้อจํากัดด้านกฎหมาย และสนับสนุนการเข้าสู่ตลาด

ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการประชุมงาน Thailand Synergy Forum2025 ณ ห้องศุกรีย์ แก้วเจริญ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้กล่าวเปิดงาน เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2568

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทั้ง 11 หน่วยงานใน Thailand Synergy ได้ทำงานร่วมกันมามากกว่า 10 ปี จึงได้มีการหารือกันถึงสิ่งที่จะขับเคลื่อนต่อ และได้เห็นถึงความสำคัญของ Innovation หรือ นวัตกรรม ที่เกิดขึ้นมาจากผู้ประกอบการ หรือ Enterprise ทำให้มีแนวคิดที่จะผลักดันให้ SMEsของไทยเติบโตขึ้นไปเป็น IDE (Innovation-Driven Enterprise) หรือ ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศได้ โดยถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ที่ต้องใช้พลังความร่วมมือจากทุกหน่วยงานเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

“ใน 11 หน่วยงานมีภารกิจการดำเนินงานที่ต่างกัน แต่เราสามารถตั้งวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกันได้ในการทำเพื่อประเทศ เรายังมีศักยภาพที่ซ่อนอยู่อีกมาก โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ SMEsพัฒนาไปเป็น IDE ได้ ทุกหน่วยงานจึงต้องทำงานร่วมกัน เพื่อเร่งสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยจะต้องมีการกำหนดวาระการดำเนินงานและผลลัพธ์ร่วมกัน” ดร.สุวิทย์ กล่าว

                         สอวช.เปิดแนวทางผลักดันธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ด้าน ดร.สุรชัย ได้กล่าวสนับสนุนแนวทางในการผลักดัน SMEs สู่ IDE และได้เล่าถึงบทบาทและภารกิจของ สอวช. ในฐานะหน่วยงานต้นน้ำด้านนโยบาย ซึ่ง สอวช. ได้ตั้งเป้าหมายยกระดับไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ผ่านการเพิ่มจำนวนบริษัทนวัตกรรม ที่มีรายได้เฉลี่ย 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย 

แต่ในขณะเดียวกัน IDE ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายที่สำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ การขยายตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงกฎระเบียบและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งธุรกิจ การขอใบอนุญาต และการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

ที่ผ่านมา สอวช. เห็นถึงข้อจำกัดและความท้าทายเหล่านี้ จึงได้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยได้มีการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น 

1. การเสริมสร้างการลงทุนผ่านกลไก University Holding Company (UHC) โดย สอวช. ได้จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2566 ซึ่งช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถทำการร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมและ Spin-off ผ่านกลไก UHCได้ 
 

2. ขยายการเข้าถึงตลาดผ่าน ECIP แพลตฟอร์ม E-Commercial and Innovation Platform ที่จะช่วยแก้ไขปัญหา ด้วยการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มดิจิทัล การฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการขายหรือ SaleTalent และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงตลาดโลก

3. กลไกเชื่อมโยงธุรกิจกับบริการให้คำปรึกษาเชิงลึกผ่าน Innovation Business Development Service (iBDS) ซึ่งจะช่วยให้ SME ได้รับการแก้ปัญหาด้านนวัตกรรม 

4. การปลดล็อกกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการวิจัยและสร้างนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมา สอวช. ได้สนับสนุนการออกกฎหมายเพื่อช่วยขจัดอุปสรรค หรือช่วยให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น ระเบียบสภานโยบายฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม พ.ศ. 2563 

เปิดโอกาสให้ภาครัฐสามารถให้ทุนแก่ภาคเอกชนและประชาสังคมได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรมในภาคเอกชนและภาคประชาสังคม รวมทั้งสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม และพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 (TRIUP Act) กำหนดให้ถ่ายโอนความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากทุนของรัฐไปยังผู้รับทุนที่มีศักยภาพในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะช่วยเร่งการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

                          สอวช.เปิดแนวทางผลักดันธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

และ 5. Offset Policy คือ การกำหนดเงื่อนไขให้ต้องมีความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านโครงการที่ใช้งบประมาณของภาครัฐ หรือ ภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนในการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นงานที่ สอวช. ผลักดันร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมบัญชีกลาง โดยนโยบายนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับ SMEs และIDE ไทย ผ่านการรับความรู้จากต่างประเทศ รวมถึงเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน

ดร.สุรชัย ยังได้เน้นย้ำว่า การเปลี่ยน SMEs ของไทยให้กลายเป็น IDEs ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ต้องใช้ความพยายามร่วมกันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา นักลงทุนภาคเอกชน และผู้นำอุตสาหกรรมต้องทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม

โดยเชื่อมั่นว่า หากทุกภาคส่วน ร่วมมือกัน จะสามารถสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เข้มแข็ง และผลักดันให้ IDE ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำในเวทีโลกได้อย่างแน่นอน