เฮ! มท.เพิ่มบัตรผ่านแดนชั่วคราวใหม่ เดินทางปท.เพื่อนบ้านยาว 1 สัปดาห์

15 ม.ค. 2568 | 18:55 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2568 | 19:02 น.

ปลัดมหาดไทย ประชุมหารือหน่วยงานความมั่นคงชายแดน ถก 4 ประเด็นสำคัญเดินหน้าพัฒนาจุดผ่านแดน หนุนเสริมความร่วมมือไทย-กัมพูชา เพิ่มบัตรผ่านแดนชั่วคราว สามารถใช้เดินทางได้ครั้งละไม่เกิน 1 สัปดาห์

วันนี้ (15 มกราคม 2568) นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อทบทวนการแก้ไขความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสองว่า ที่ประชุมวันนี้ได้หารือถึงการเพิ่มบัตรผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) เป็นเอกสารผ่านแดนอีกประเภทหนึ่งสำหรับประชาชนที่ไม่ได้อาศัยในพื้นที่ชายแดน

 

เฮ! มท.เพิ่มบัตรผ่านแดนชั่วคราวใหม่ เดินทางปท.เพื่อนบ้านยาว 1 สัปดาห์

 

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอชายแดนจะเป็นผู้มีอำนาจออกบัตร บัตรผ่านแดนชั่วคราวสามารถใช้เดินทางได้ครั้งละไม่เกิน 1 สัปดาห์ ซึ่งที่ประชุมได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญเรื่องมาตรการด้านความมั่นคงที่เข้มงวดรวมถึงความพร้อมของระบบฐานข้อมูลทั้งสองฝ่าย รวมถึงการบูรณาการร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงในการรักษาความปลอดภัยของประชาชน

เช่นเดียวกันกับประเด็นการกำหนดพื้นที่ชายแดนช่องสายตะกู จ.บุรีรัมย์ ในการตีความพื้นที่ชายแดนของจังหวัดตามความตกลงระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งที่ประชุมมีมติให้พื้นที่ชายแดนครอบคลุมทั้งจังหวัด โดยกระทรวงมหาดไทยจะได้แจ้งไปยังจังหวัดบุรีรัมย์เพื่อออกมาตรการตามความตกลงที่เหมาะสมต่อไป

 

เฮ! มท.เพิ่มบัตรผ่านแดนชั่วคราวใหม่ เดินทางปท.เพื่อนบ้านยาว 1 สัปดาห์

 

สำหรับในส่วนของการกำหนดสถานีรถไฟบ้านคลองลึกเป็นด่านพรมแดนตามกฎหมายศุลกากร มีที่มาสืบเนื่องมาจาก จ.สระแก้วได้เสนอให้สถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึกเป็นด่านพรมแดนตามกฎหมายศุลกากร เพื่อสนับสนุนการขนส่งทางราง ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 21 กันยายน 2540 กำหนดให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรที่ครอบคลุมทางรถไฟอยู่แล้ว โดยที่ประชุมเห็นชอบในการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และจะได้มีหนังสือแจ้ง จ.สระแก้ว และกรมศุลกากร เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 

ส่วนการเพิ่มจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา (หนองเอี่ยน-สตึงบท) ซึ่งเปิดทำการเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับการบรรจุในภาคผนวก เอ ของความตกลงระหว่างประเทศ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบถึงการเพิ่มจุดผ่านแดนดังกล่าว เพื่อรองรับการเดินทางที่ส่งผลต่อความสะดวกในด้านการค้าระหว่างประเทศและการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา