ทำจดหมายเหตุ “โควิด-19” บันทึกเหตุการณ์วิกฤตให้คนรุ่นหลังเรียนรู้

24 ก.ย. 2565 | 12:15 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2565 | 19:21 น.

กระทรวงวัฒนธรรม จัดทำจดหมายเหตุการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ในประเทศไทย บันทึกลำดับเหตุการณ์สำคัญ บอกเล่าความร่วมมือร่วมใจของคนไทยจนสามารถผ่านวิกฤตครั้งใหญ่ เพื่อเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เป็นองค์ความรู้ในอนาคต

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด19 หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 65 ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กระทรวงวัฒนธรรมได้รายงานถึงความคืบหน้าการจัดทำจดหมายเหตุการแพร่ระบาดโควิด19 ในประเทศไทย 

 

โดยได้บันทึกลำดับเหตุการณ์สำคัญ นโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เป็นองค์ความรู้ และการดูแลจัดการ กรณีเกิดสถานการณ์ลักษณะเดียวกันขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ คณะทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมได้รวบรวม สืบค้นข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 - 31 ก.ค. 65 จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ประกอบด้วย 

  • แหล่งข้อมูลหนังสือพิมพ์ออนไลน์ จำนวน 11,574 แฟ้ม
  • เอกสารดิจิทัลจากเว็บไซต์หน่วยงาน จำนวน 12,858 แฟ้ม
  • ขอข้อมูลเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดับกระทรวงและจังหวัดจำนวน 30 หน่วยงาน รวมเอกสาร 13,108 รายการ
  • เอกสารจากผู้ว่าราชการ 73 จังหวัด รวม 1,839 รายการ 
  • รวบรวมภาพถ่ายจากเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้อง 2,734 รายการ

ทั้งหมดจะถูกรียบเรียงเป็นเนื้อหาซึ่งมีเค้าโครงเบื้องต้น ดังนี้ 

  1. ความเป็นมาของโรคโควิด19 ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงวิชาการ การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ต่างๆ  
  2. ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด19  ซึ่งนำเสนอทั้งผลกระทบด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ การศึกษา สังคม วัฒนธรรมตลอดจนการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (new normal)
  3. การบริหารจัดการสถานการณ์โควิด19 นำเสนอในมิติการบริหารจัดการ การป้องกัน การกำหนดมาตรการ แก้ไข เยียวยา ฟื้นฟูทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการผ่านมาตรการสำคัญต่าง ๆ 
  4. ลำดับเหตุการณ์สำคัญ  นำเสนอการแพร่ระบาดในแต่ละระลอก 
  5. สรุปบทเรียนประเทศจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19

 

“รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานในที่ประชุม ศบค. ได้มีข้อสั่งการให้คณะทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมพิจารณาเพิ่มเนื้อหาในส่วนที่สะท้อนถึงความร่วมมือของคนไทย ทั้งการบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เป็นการบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังเห็นว่าด้วยความร่วมมือของคนไทยประเทศจึงสามารถผ่านวิกฤตครั้งใหญ่นี้มาได้” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมรายงานว่าการเรียบเรียงเนื้อหาชั้นแรกจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธันวาคม 2565 จากนั้นจะมีการปรับแก้เค้าโครงและเนื้อหาให้สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการและเอกสารที่ได้รับ

 

ต่อด้วยการตรวจแก้ไขโดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิตามขั้นตอนเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2566 ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนทางทะเบียน เพื่อนำเข้าระบบเอกสารจดหมายเหตุของประเทศต่อไป