"น้ำท่วม กทม." โอกาสเกิดขึ้นได้หรือไม่ น่ากลัวแค่ไหน เพราะอะไร เช็คเลย

12 ก.ย. 2565 | 07:11 น.
3.5 k

"น้ำท่วม กทม." โอกาสเกิดขึ้นได้หรือไม่ น่ากลัวแค่ไหน เพราะอะไร เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง รวบรวมสถิติย้อนหลังวิเคราะห์อนาคต และจุดเสี่ยง

นายสันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง โพสข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว (Sunt Srianthumrong) โดยมีข้อความว่า
 

น้ำท่วมกรุงเทพฯ : สรุปแล้วตกลงว่า น้ำมาก ฝนมาก หรือว่าเป็นที่การบริหารจัดการไม่ดี เรามาดูตัวเลขย้อนหลัง 5 ปีกัน 

 

บอกเลยว่า วันที่แย่ที่สุดของปีนี้ อาจจะยังมาไม่ถึง ทำใจไว้เลย และแน่นอนว่า ปีที่แย่ที่สุดก็น่าจะยังมาไม่ถึงเช่นกัน 

 

เรามาค่อยๆวิเคราะห์ตัวเลขข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีกัน ตัวเลขที่คิดว่าบ่งชี้ได้ดีว่าท่วมหรือไม่ท่วมเมื่อฝนตกเฉียบพลันคือตัวเลขรายวัน เพราะว่าน้ำท่วมแบบฝนตก

 

ส่วนมากก็เกิดจากการระบายระยะสั้นไม่ทัน ส่วนค่าปริมาณฝนรายเดือนจะเหมาะกับการวิเคราะห์การท่วมของกทม.จากน้ำเหนือ ซึ่งปัญหาที่เราเจอเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ ปัญหาท่วมจากฝนตกหนักในพื้นที่แบบรายวัน 

 

ตารางที่ 1: ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ที่สถานีวัดที่สูงที่สุด ในรอบ 24 ชั่วโมง
ตัวเลขตั้งแต่ 1 ส.ค. - 10 ก.ย.
เช็คระดับ 100 ม.ม. 

 

  • ปี 2560 มีเกิน 100 ม.ม. 3 วัน
  • ปี 2561 มีเกิน 100 ม.ม. 0 วัน
  • ปี 2562 มีเกิน 100 ม.ม. 0 วัน
  • ปี 2563 มีเกิน 100 ม.ม. 1 วัน
  • ปี 2564 มีเกิน 100 ม.ม. 4 วัน
  • ปี 2565 มีเกิน 100 ม.ม. 8 วัน

 

ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ที่สถานีวัดที่สูงที่สุด

 

ช่วง 6 ปีมีเกิน 100 ม.ม ทั้งหมด 16 วัน โดยมี 8 วันอยู่ในปี 2565

กราฟที่ 1: ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ที่สถานีวัดที่สูงที่สุด ในรอบ 24 ชั่วโมง
ตัวเลขตั้งแต่ 1 ส.ค. - 10 ก.ย.
เช็คระดับ 120 ม.ม. 

 

  • ปี 2560 มีเกิน 120 ม.ม. 0 วัน
  • ปี 2561 มีเกิน 120 ม.ม. 0 วัน
  • ปี 2562 มีเกิน 120 ม.ม. 0 วัน
  • ปี 2563 มีเกิน 120 ม.ม. 1 วัน
  • ปี 2564 มีเกิน 120 ม.ม. 2 วัน
  • ปี 2565 มีเกิน 120 ม.ม. 6 วัน

 

ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ที่สถานีวัดที่สูงที่สุด

ช่วง 6 ปีมีเกิน 120 ม.ม ทั้งหมด 9 วันโดยมี 6 วันอยู่ในปี 2565 และทั้ง 9 วันอยู่ในช่วง 3 ปีหลัง 

 

กราฟที่ 2: ค่าเฉลี่ย 7 วันของ ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ที่สถานีวัดที่สูงที่สุด ในรอบ 24 ชั่วโมง ตัวเลขตั้งแต่ 7 ส.ค. - 10 ก.ย.

 

  • ปี 2560 สูงสุด 66.9 ม.ม. วันที่ 31 ส.ค. 
  • ปี 2561 สูงสุด 50.3 ม.ม. วันที่ 9 ก.ย. 
  • ปี 2562 สูงสุด 24.9 ม.ม. วันที่ 26 ส.ค. 
  • ปี 2563 สูงสุด 70.4 ม.ม. วันที่ 3 ก.ย. 
  • ปี 2564 สูงสุด 85.0 ม.ม. วันที่ 1 ก.ย. 
  • ปี 2565 สูงสุด 99.9 ม.ม. วันที่ 10 ก.ย. 

 

ค่าเฉลี่ย 7 วันของ ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ที่สถานีวัดที่สูงที่สุด

ปีนี้ค่า 99.9 นับเป็นสถิติสูงสุดของ 7-day Moving Average ที่พบในเขตกทม.ในรอบ 6 ปี  ถ้าเราดูเส้นกราฟสีแดงจะเห็นได้ว่า พุ่งทำลายสถิติแบบที่น่ากังวลมากว่ามันอาจจะไม่จบแค่นี้

กราฟที่ 3: ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ที่สถานีวัดที่สูงที่สุด ในรอบ 24 ชั่วโมง
ตัวเลขช่วง 3 เดือนตั้งแต่ 1 ส.ค. - 31 ต.ค.

 

กราฟบ่งบอกอนาคต 

 

เราจะเห็นได้ว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กราฟแท่งสีเทาจะมีกราฟแท่งสูงๆในช่วงครึ่งหลังของหน้าฝน คือกลาง ก.ย. - ปลาย ต.ค. หนาแน่นกว่าในช่วงต้นหน้าฝน
ดังนั้น นี่คือความน่ากังวลว่า "วันที่เลวร้ายที่สุดของปีนี้ อาจจะยังมาไม่ถึง"
ท้ายตารางที่ 1 ค่าเฉลี่ย 10 วันแรกของเดือนกันยายน:

 

  • ปี 2560 ค่าเฉลี่ย 60.0 ม.ม. 
  • ปี 2561 ค่าเฉลี่ย 43.9  ม.ม. 
  • ปี 2562 ค่าเฉลี่ย 24.2 ม.ม. 
  • ปี 2563 ค่าเฉลี่ย 52.8 ม.ม. 
  • ปี 2564 ค่าเฉลี่ย 54.4 ม.ม. 
  • ปี 2565 ค่าเฉลี่ย 81.4 ม.ม. 

 

ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ที่สถานีวัดที่สูงที่สุด

ทุบสถิติราบคาบ 

 

บทสรุป: 

 

  • ปีนี้ฝนที่ตกในเขตกทม. ช่วงต้นก.ย.มีค่าเฉลี่ยรายวันสูงมาก และเกิดขึ้นแบบหลายวันติดกัน
  • ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยราย 7 วันทุบสถิติรอบ 6 ปีของช่วงเดือน ส.ค. - ต.ค. ไปแล้ว
  • ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 10 วันแรกของเดือนกันยายน ทุบสถิติเช่นกัน
  • จำนวนวันที่ฝนตกหนักกว่า 100 ม.ม ทุบสถิติ
  • จำนวนวันที่ฝนตกหนักกว่า 120 ม.ม ทุบสถิติ
  • ปัญหาที่ใหญ่มากคือ ค่าเฉลี่ยรายเดือนอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แต่ Extreme day กลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก นี่คือ Character ของปัญหา Climate Crisis 

 

สถิติที่ยังไม่ทุบ 

 

1. ปริมาณฝนสูงสุดรายเฉพาะวัน เจ้าของสถิติเดิมที่ 223 ม.ม. คือเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2560  ภาพข่าวจาก The Standard วันนั้นตกหนักต่อเนื่องจากช่วงกลางคืนแค่วันเดียวเท่านั้นก็เละแบบหมดสภาพ หนักยิ่งกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาเยอะ 
บางทีคิดว่านี่คือแค่จุดเริ่มต้น ซึ่งไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้นของปีนี้นะ

 

แต่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนของหายนะภัยที่จะมาในปีต่อๆไปด้วย ยิ่ง Global Warming รุนแรงขึ้นเท่าใหร่ เราจะยิ่งเจอ Extreme Weather Event แบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ หายนะจริงย่อมรุนแรงกว่าสัญญาณเตือน 

 

และถ้าน้ำทะเลสูงขึ้นมากกว่านี้อีกในช่วงปีค.ศ. 2050 สิ่งที่ผมกังวลที่สุดตอนนี้คือ กทม.และอีกหลายพื้นที่โดยรอบ จะยังคงสามารถอยู่อาศัยได้หรือไม่ ถ้าผู้คนยังไม่ใส่ใจและละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อมกันแบบนี้ มนุษย์เราส่วนมากก็มองเห็นกันแต่ พวกใครพวกมัน การเมือง เงินในกระเป๋า GDP และความมักง่ายสารพัด    
 

 

ไม่ได้พูดเล่นนะ พูดจริงๆ เที่ยวหน้าผมจะเอาแผนที่น้ำท่วมในปี 2050 มาวิเคราะห์ร่วมกับเรื่องโลกร้อนกัน แล้วค่อยมาดูกันว่า พ่อบ้านแม่บ้าน มนุษย์ธรรมดา จะเอาตัวรอดกันอย่างไร 

 

จำกันไว้ว่า This is just the Beginning. 

 

ปล. จากคนที่ไม่ลงทุนอสังหาฯในกทม.เลยแม้แต่บาทเดียว