โอมิครอน BA.5 น่ากลัวมากกว่า BA.4 เพราะอะไร เช็คเลยที่นี่

24 ก.ค. 2565 | 08:11 น.
2.1 k

โอมิครอน BA.5 น่ากลัวมากกว่า BA.4 เพราะอะไร เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ ดร.อนันต์เผยไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะติดง่ายมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมไปเรื่อยๆ

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว (Anan Jongkaewwattana)โดยมีข้อความระบุว่า 

 

ทุกครั้งเวลามีสายพันธุ์โควิดใหม่ๆออกมา ความสนใจจะมุ่งไปที่ไวรัสนั้นจะหนีภูมิคุ้มกันได้มากน้อยแค่ไหน 

 

โดยภูมิคุ้มกันที่สนใจกันมากที่สุดคือระดับภูมิแอนติบอดีที่อยู่ในร่างกายซึ่งได้รับการกระตุ้นจากวัคซีน 

 

หรือจากการติดเชื้อจากธรรมชาติ เชื่อว่าถ้าแอนติบอดีมีสูงมากพอที่จะยับยั้งไวรัสในการติดเชื้อได้ น่าจะช่วยให้อาการของโรคไม่รุนแรง 

 

และไวรัสอาจจะถูกเคลียร์ออกจากร่างกายได้ไว โดยการเปลี่ยนแปลงที่จะหนีการจับของแอนติบอดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นที่โปรตีนหนามสไปค์ 

 

ซึ่งเป็นข้อมูลหลักที่เราเข้าใจ และ ใช้แยกไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเป็นสายพันธุ์ที่น่าจับตามอง

 

แต่การเปลี่ยนแปลงของไวรัสไม่ได้เกิดขึ้นบนโปรตีนหนามสไปค์อย่างเดียว เช่น BA.4 และ BA.5 มีหนามสไปค์ที่เหมือนกัน 100% 

แต่คุณสมบัติของไวรัสสองสายพันธุ์นี้ค่อนข้างต่างกันชัดเจน โดย BA.5 น่าจะสร้างปัญหาได้มากกว่า 

 

สาเหตุหนึ่งคือ ร่างกายของเรามีภูมิคุ้มกันอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า innate immunity ซึ่งจะเป็นปราการด่านแรกๆ ที่ร่างกายเราใช้ต่อต้านการติดเชื้อของไวรัส 

 

โดยเมื่อร่างกายเรารู้สึกได้ว่ามีสิ่งแปลกปลอมจะมีการสร้างสร้างต้านไวรัสชื่อว่า Interferon ขึ้นมาแบบไวกว่าแอนติบอดีมากๆ 

 

ซึ่งสารดังกล่าวถ้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงจะสามารถจัดการกับไวรัสได้แบบ 100%  

 

ร่างกายจะสามารถกำจัดไวรัสในช่วงระยะฟักตัว แบบไม่มีอาการใดๆเกิดขึ้นเลย 

 

ซึ่งหมายถึง อาจได้รับเชื้อ แต่ไม่ติดเชื้อ ไม่จำเป็นต้องอาศัยแอนติบอดีใดๆมาทำงานป้องกันไวรัสติดเชื้อเลย

 

โอมิครอน BA.5 น่ากลัวมากกว่า BA.4

 

แต่ถ้าไวรัสสามารถถูกจัดการด้วย Interferon ได้ง่ายแบบนั้น ไวรัสจะไม่สามารถดำรงอยู่ในโฮสต์ได้เลย 

 

ไวรัสจึงมีกลไกต่างๆในการหนีการทำงานของ Interferon ได้ ผ่านการทำงานของโปรตีนต่างๆที่ไม่ใช่โปรตีนหนามของสไปค์ 

 

และการเปลี่ยนแปลงต่างๆนอกโปรตีนหนามอาจมีส่วนทำให้ไวรัสเพิ่มความสามารถในการหนีการทำงานของ Interferon ได้สูงขึ้น 

ผลงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ออกมาในวารสาร PNAS ออกมาชัดเลยว่า 

 

ไวรัส SARS-CoV-2 ที่ออกมาในแต่ละรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองในการหนีการจับของ Interferon ได้สูงขึ้นมาก

 

สายพันธุ์โอมิครอนวันนี้เทียบไม่ติดเลยกับสายพันธุ์ดั้งเดิมจาก Wuhan ซึ่งข้อมูลนี้บอกได้ค่อนข้างชัดว่า 

 

ทำไมไวรัสใหม่ๆถึงติดง่าย มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมไปเรื่อยๆ สายพันธุ์ในอนาคตก็จะเปลี่ยนหนี Interferon ได้มากขึ้นเรื่อยๆ 

 

การเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของไวรัสนอกโปรตีนหนามสไปค์จะช่วยให้เราเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของไวรัสชัดขึ้นเรื่อยๆ