“ซีพีเอฟ”หนุนศูนย์ FLEC สร้างโอกาสการศึกษาลูกหลานแรงงานข้ามชาติ

22 ก.ค. 2565 | 16:55 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2565 | 00:20 น.

“ซีพีเอฟ” หนุนศูนย์ FLEC สร้างโอกาสการศึกษาลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ลดความเหลื่อมล้ำ ต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก

รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม หากด้วยข้อจำกัดด้านต่างๆ ทั้งความพร้อมของเด็กและผู้ปกครอง ส่งผลให้เด็กข้ามชาติ ที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยจำนวนมากเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Fishermen Life Enhancement Center) หรือ ศูนย์ FLEC คือความร่วมมือภาคีเครือข่ายรัฐ-ประชาสังคม-เอกชน ที่เข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งตลอด 6 ปีของการ สามารถสนับสนุนให้ลูกหลานของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสงขลา ได้รับสิทธิเข้าเรียนหนังสือและพัฒนาทักษะเพื่อเติบโตอย่างมีคุณภาพ 


นางสาวนาตยา เพชรรัตน์ ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา ในฐานะกรรมการศูนย์ FLEC กล่าวว่า ศูนย์ FLEC เป็นความร่วมมือของภาคีพันธมิตร 7 องค์กร เพื่อร่วมจัดการปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติครอบคลุมทุกมิติ 

ศูนย์ FLEC มีส่วนช่วยสนับสนุนให้บุตรหลานแรงงานเข้าถึงสิทธิทางการศึกษา ผ่าน “ห้องเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัวแรงงานเพื่อนบ้าน” ณ อาคารท่าเทียบเรือสงขลา เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนต่อในโรงเรียนรัฐในจังหวัด ซึ่งตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา มีลูกหลานแรงงานข้ามชาติรวม 240 คน ได้เข้าถึงการศึกษาในระบบตามมาตรฐานการศึกษาของไทย โดยกว่าร้อยละ 90 ของเด็กสอบผ่านเกณฑ์ประเมินการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 45 คนได้เข้าเรียนต่อในโรงเรียนเทศบาล 2 อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ร่วมกับนักเรียนไทย  

                       “ซีพีเอฟ”หนุนศูนย์ FLEC สร้างโอกาสการศึกษาลูกหลานแรงงานข้ามชาติ

ทั้งนี้ห้องเรียนรู้ฯ ของศูนย์ FLEC เปิดเรียนทุกวันไม่เว้นแม้ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เพื่อช่วยดูแลเด็กแทนผู้ปกครองที่ต้องทำงานในบริเวณท่าเทียบเรือประมง และในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ห้องเรียนรู้ฯ ยังจัดกลุ่มนักเรียนหมุนเวียนเข้ามาเรียน และมอบหมายการบ้าน เพื่อให้การเรียนของเด็กๆ ต่อเนื่องไม่ขาดตอน โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองเป็นอย่างดีในการติดตามลูกหลานส่งการบ้านอย่างครบถ้วน

สำหรับในปีนี้ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติในสงขลา เข้ามาเรียนกับศูนย์ FLEC ทั้งหมดจำนวน 42 คน ช่วงอายุตั้งแต่ 4-15 ปี ซึ่งมี “ครูพาตีเมาะ  หะแว” ครูประจำห้องเรียนรู้ฯ และเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ช่วยจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมตามวัย โดย เด็กอนุบาลจะสอนในรูปแบบบูรณาการเพื่อเสริมพัฒนาการและสร้างอุปนิสัยการเรียนรู้ที่ดี  


ส่วนเด็กวัยประถมขึ้นไป จะสอนรายวิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และสอนภาษากัมพูชาให้อ่านออกเขียนได้ รวมทั้งสร้างเสริมทักษะการใช้ชีวิต เช่น การเรียนรู้แยกขยะต่างๆ การดูแลและปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อนำไปรับประทานร่วมกับผู้ปกครอง เป็นต้น รวมทั้ง มีเด็กข้ามชาติสามารถผ่านการประเมินเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ ทั้งระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษาได้ 15 คน


“ลูกหลานของแรงงานข้ามชาติที่มาเรียนกับศูนย์ FLEC มีทักษะการใช้ภาษาไทย และคณิตศาสตร์ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ เด็กๆ กล้าแสดงออก กล้าพูดคุยกับคนนอกครอบครัวมากขึ้น และที่สำคัญ เด็กๆ สามารถดูแลตัวเองได้ในเวลาที่ผู้ปกครองไปทำงาน ใช้ชีวิตประจำได้อย่างปลอดภัย” นางสาวพาตีเมาะ กล่าว

 

ทั้งนี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ 6 องค์กรภาคีพันธมิตร  ได้แก่ องค์การสะพานปลา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (บ้านสุขสันต์) บริษัท ปตท. โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด ที่ร่วมก่อตั้งและดำเนินการ ศูนย์ FLEC มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน 

                                              “ซีพีเอฟ”หนุนศูนย์ FLEC สร้างโอกาสการศึกษาลูกหลานแรงงานข้ามชาติ
โดยศูนย์ FLEC มีเป้าหมายพัฒนาต้นแบบการบูรณาการทำงาน เพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ควบคู่กับร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนป้องกันการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายในระดับท้องถิ่น เพื่อสร้างความเท่าเทียมการศึกษา ส่งเสริมสิทธิเด็ก ช่วยให้แรงงานข้ามชาติและบุตรในภาคประมงมีความรู้ ทักษะทางอาชีพที่จำเป็น สามารถสร้างรายได้ พึ่งพาตนเอง และมีความเป็นอยู่ที่ดีต่อไป

                                   “ซีพีเอฟ”หนุนศูนย์ FLEC สร้างโอกาสการศึกษาลูกหลานแรงงานข้ามชาติ