เปิดพิกัด 33 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 20-25 ก.ค.

20 ก.ค. 2565 | 10:16 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2565 | 17:21 น.

ปภ.แจ้ง 33 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และ กทม. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 20 – 25 ก.ค. 65 มีอำเภออะไรบ้าง เช็คเลย

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 65 เวลา 19.30 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 2 (174/2565) ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น

 

ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า จะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ในช่วงระหว่างวันที่ 20 – 25 กรกฎาคม 2565 ดังนี้

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง

 

ภาคเหนือ

  • จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อ.สบเมย แม่สะเรียง)
  • จังหวัดเชียงใหม่ (อ.แม่แจ่ม เชียงดาว)
  • จังหวัดเชียงราย (อ.แม่จัน แม่ฟ้าหลวง แม่สาย เวียงป่าเป้า)
  • จังหวัดลำพูน (อ.ลี้) ลำปาง (อ.เมืองฯ)
  • จังหวัดน่าน (อ.เชียงกลาง ปัว ทุ่งช้าง ท่าวังผา บ่อเกลือ)
  • จังหวัดอุตรดิตถ์ (อ.ท่าปลา บ้านโคก น้ำปาด)
  • จังหวัดพิษณุโลก (อ.เนินมะปราง นครไทย ชาติตระการ)
  • จังหวัดตาก (อ.แม่สอด ท่าสองยาง แม่ระมาด)
  • จังหวัดเพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ วังโป่ง ชนแดน หนองไผ่ หล่มสัก หล่มเก่า เขาค้อ น้ำหนาว)
  • จังหวัดอุทัยธานี (อ.บ้านไร่)

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

  • จังหวัดเลย (อ.เมืองฯ ด่านซ้าย ท่าลี่)
  • จังหวัดหนองคาย (อ.โพนพิสัย รัตนวาปี)
  • จังหวัดสกลนคร (อ.บ้านม่วง)
  • จังหวัดบึงกาฬ (อ.เมืองฯ โซ่พิสัย เซกา ปากคาด บึงโขงหลง ศรีวิไล บุ่งคล้า)
  • จังหวัดชัยภูมิ (อ.เมืองฯ แก้งคร้อ บ้านเขว้า หนองบัวแดง)
  • จังหวัดขอนแก่น (อ.เมืองฯ ชุมแพ ภูเวียง ภูผาม่าน เวียงเก่า หนองนาคำ)
  • จังหวัดกาฬสินธุ์ (อ.เมืองฯ ยางตลาด)
  • จังหวัดนครราชสีมา (อ.เสิงสาง จักราช พิมาย ห้วยแถลง ชุมพวง หนองบุญมาก ลำทะเมนชัย บัวใหญ่)
  • จังหวัดบุรีรัมย์ (อ.นางรอง ละหานทราย ประโคนชัย เฉลิมพระเกียรติ โนนดินแดง โนนสุวรรณ ลำปลายมาศ บ้านด่าน)
  • จังหวัดสุรินทร์ (อ.ปราสาท กาบเชิง)

 

ภาคกลาง

 

  • จังหวัดกาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ สังขละบุรี)
  • จังหวัดราชบุรี (อ.สวนผึ้ง บ้านคา)
  • จังหวัดปราจีนบุรี (อ.นาดี)
  • จังหวัดสระแก้ว (อ.ตาพระยา)
  • จังหวัดจันทบุรี (อ.แก่งหางแมว)
  • จังหวัดตราด (อ.คลองใหญ่ บ่อไร่ เขาสมิง เกาะกูด เกาะช้าง)
  • จังหวัดเพชรบุรี (อ.แก่งกระจาน ท่ายาง)
  • จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อ.บางสะพาน บางสะพานน้อย)

 

ภาคใต้

 

  • จังหวัดชุมพร (อ.พะโต๊ะ)
  • จังหวัดระนอง (อ.เมืองฯ กะเปอร์)
  • จังหวัดพังงา (อ.เมืองฯ ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า คุระบุรี)
  • จังหวัดภูเก็ต (ทุกอำเภอ)

 

กรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขัง

 

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำตราด

 

พื้นที่เฝ้าระวังระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 3 แห่ง ได้แก่

 

  • อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่
  • อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
  • อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น

 

อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่ น่าน และเพชรบูรณ์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดเลย บึงกาฬ ขอนแก่น และนครราชสีมา) ภาคกลาง (จังหวัดสระแก้ว และตราด)

 

ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM