ดีอีเอส แนะ 3 ช่องทางช่วยประชาชนถูกแอบอ้างชื่อไปสร้างโซเชียลปลอม

17 ก.ค. 2565 | 12:31 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2565 | 19:34 น.

กระทรวงดิจิทัลฯ แนะประชาชน-คนดัง พบถูกแอบอ้างชื่อ/รูปภาพไปสร้างบัญชีโซเชียลปลอม รีบแจ้งด่วนผ่าน 3 ช่องทาง พร้อมประสานทุกภาคส่วนเร่งปิดบัญชีปลอม และติดตามผู้กระทำผิดเข้ามาดำเนินคดี

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ที่ผ่านมายังพบแนวโน้มปัญหามิจฉาชีพแอบอ้างนำชื่อและรูปภาพคนอื่น ไปสร้างบัญชีโซเชียลปลอมทั้ง เฟซบุ๊ก เพจปลอม ไลน์ปลอม และ IG เพื่อนำไปหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน 


ทั้งสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง เสียชื่อเสียง โดยเฉพาะยิ่งถ้าผู้ที่ถูกแอบอ้างชื่อและโปรไฟล์เป็นดารา หรือคนมีชื่อเสียง ความเสียหายก็จะยิ่งขยายวงกว้าง เนื่องจากมักมีแฟนคลับหรือผู้ติดตามจำนวนมาก โอกาสที่จะมีเหยี่อหลงเชื่อก็ยิ่งเพิ่มจำนวนเช่นกัน ขณะที่เจ้าตัวก็เสี่ยงต่อการสูญเสียชื่อเสียง

สำหรับรูปแบบการหลอกลวงที่พบบ่อยจากบัญชีโซเชียลสวมรอยเหล่านี้ ได้แก่ หลอกยืมเงิน หลอกขายของ หลอกลงทุน หลอกร่วมทุน โดยเหยื่อที่หลงเชื่อจะสูญเงินโดยไม่ได้รับสินค้าหรือผลตอบแทนใดๆ 


นอกจากนี้ ยังมีการหลอกลวงที่เป็น Romance Scam หรือหลอกให้หลงรักและสูบเงินเหยื่อผ่านทางออนไลน์ ขณะที่ บางกรณีจะเป็นการแอบอ้างตัวตนคนดัง สร้างเฟซบุ๊กปลอมเพื่อใช้เป็นพื้นที่โพสต์เนื้อหา หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อหมิ่นประมาทผู้อื่น เป็นต้น 

นางสาว นพวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียหายซึ่งถูกแอบอ้างชื่อไปสร้างบัญชีโซเชียลปลอม เข้าถึงช่องทางความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว 


เพื่อเร่งยุติการขยายวงของความเสียหาย เร่งประสานงานเพื่อปิดบัญชีปลอม และติดตามมิจฉาชีพมาดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคือ ขอให้ผู้ที่ถูกแอบอ้างตั้งสติ และดำเนินการผ่าน 3 ช่องทางดังต่อไปนี้ประกอบกัน เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการประสานการปิดบัญชีโซเชียลที่แอบอ้าง


ได้แก่ 1.แจ้งรายงานไปที่แพลตฟอร์มโซเชียล โดยการ report ไปยังเว็บไซต์ผู้ให้บริการ Social Network ที่ถูกแอบอ้าง ซึ่งทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ และ IG มีเมนูให้รายงานบัญชีปลอมโดยตรงอยู่แล้ว จากนั้นรอขั้นตอนการตรวจสอบของทางแพลตฟอร์ม


2.ช่องทางของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่สายด่วน โทร.1212 OCC ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ในสังกัดดีอีเอส  + ช่องทางอื่นๆ ภายใต้การดูแลของกระทรวงฯ 


และ 3.แจ้งตำรวจ ทั้งการไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) โดยให้รวบรวมหลักฐานไว้ เช่น capture จับภาพหน้าจอสนทนา หรือหน้ารูป Proflie ที่ถูกปลอมขึ้นมา 

  

รวมทั้งสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านเว็บไซต์ https://thaipoliceonline.com ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยต้องลงทะเบียนจะต้องกรอกข้อมูลบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตนด้วย ก่อนกรอกข้อมูลอื่นๆ ตามขั้นตอน ที่สำคัญคื่อข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับคดี 


ทั้งข้อมูลส่วนตัวของผู้แจ้งและข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาเท่าที่ทราบได้แก่ ชื่อ นามแฝง เลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัญชีธนาคารที่ใช้ในการทำธุรกรรม ช่องทางติดต่ออื่นๆ เช่น Line, Facebook, Instagram, Twitter เป็นต้น รวมถึงรูปแบบคำโฆษณาของมิจฉาชีพ เพื่อใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลคดีอื่นๆ ที่เคยแจ้งมาก่อน และจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบหาคนร้ายที่ทำในรูปแบบขบวนการ
   

ที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลฯ มีการเร่งประสานกับแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างเช่น เฟซบุ๊ก เพื่อทำการปิดเฟซปลอม/ปิดกั้นเพจปลอม ภายหลังได้รับการแจ้งจากประชาชน ตลอดจนประสานการทำงานกับทางตำรวจ ในการช่วยรวบรวมและส่งมอบหลักฐานต่าง ที่เกิดขึ้นบนช่องทางโซเชียล/ออนไลน์ เพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีโดยเร็ว