สธ.จับตาใกล้ชิดโอมิครอน BA.4 BA.5 แพร่เร็วขึ้น พบแล้ว 181 ราย

24 มิ.ย. 2565 | 13:39 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2565 | 21:09 น.
2.2 k

สาธารณสุข (สธ.) จับตาใกล้ชิดโอมิครอน BA.4 และ BA.5 หลังพบผู้ติดเชื้อ 181 ราย แนวโน้มแพร่เร็วขึ้น-หลบภูมิมากขึ้น ย้ำความจำเป็น ประชาชนควรเข้ารับ "วัคซีนเข็มกระตุ้น" เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยวันนี้ (24 มิ.ย.) ว่า จากระบบการเฝ้าระวังสายพันธุ์ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในช่วงวันที่ 18-22 มิ.ย. 65 พบว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยพบทั้งหมด 181 ราย ทั้งนี้ ยังพบในผู้เดินทางมาจากต่างประเทศมากกว่าในประเทศ

 

สำหรับข้อมูลของห้องปฏิบัติการ พบว่า BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R คล้ายสายพันธุ์เดลตา จากข้อมูลจนถึงปัจจุบัน พบว่าความสามารถในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น และหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับความรุนแรงของโรค

 

"ในสัปดาห์นี้มีจำนวนตัวอย่างส่งตรวจมามาก จึงพบ BA.4 และ BA.5 เพิ่มจากสัปดาห์ก่อนมาก ซึ่งต้องดูแนวโน้มอีก 2-3 สัปดาห์ต่อเนื่อง ว่าแนวโน้มของไทยจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร คนไข้อาการหนักจะถูกเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยขอความร่วมมือกรมการแพทย์ โรงพยาบาล ถ้าคนไข้อาการหนักให้ส่งตัวอย่างมาตรวจหาสายพันธุ์ ทั้งนี้ ได้เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.4 และ BA.5 เพิ่มขึ้น แต่เป็นจำนวนไม่มาก จึงไม่อยากทำให้บรรยากาศของประเทศต้องเสียไป"

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

นพ.ศุภกิจ กล่าวยืนยันว่า ระบบการเฝ้าระวังสายพันธุ์นี้ ของกรมฯ ที่มีทั้งการตรวจแบบรู้ผลเร็ว (Real-time RT-PCR) และตรวจแบบละเอียด (Whole genome sequencing) ยังสามารถตรวจหาสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ได้หมด เพียงแต่การตรวจแบบเร็วยังไม่สามารถแยกได้ว่าเป็น BA.4 หรือ BA.5 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความแตกต่างกันมาก

"ขณะนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์ในประเทศว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าโอมิครอน BA.4 และ BA.5 จะแพร่ระบาดจนกลายเป็นโควิดระลอกใหม่ได้หรือไม่ เพราะทุกประเทศทั่วโลกมีการตรวจหาเชื้อลดลง ดังนั้น ตัวเลขที่รายงานเป็นทางการน่าจะต่ำกว่าสถานการณ์จริง ทั้งนี้ หากโรคไม่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นก็ไม่ส่งผลอะไร แต่หากโรคแพร่ระบาดเร็ว และมีความรุนแรงมากขึ้น ก็อาจต้องมีการทบทวนมาตรการ อย่างไรก็ดี ขณะนี้มาตรการของประเทศไทยยังใช้ได้อยู่ เพียงแต่ต้องเพิ่มการเฝ้าระวังที่เข้มงวดมากขึ้น"

 

นพ.ศุภกิจ ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้โควิดสายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดทั่วโลก และประเทศไทย ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้ BA.4 และ BA.5 เป็น สายพันธุ์ที่ต้องจับตาดู (VOC lineages under monitoring: VOC-LUM)

 

นอกจากนี้ ยังมีอีก 4 ตัว คือ BA.2.12.1, BA.2.9.1, BA.2.11 และ BA.2.13 เนื่องจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยทั้ง 6 ตัว มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง L452R เช่นเดียวกับ B.1.617.2 หรือสายพันธุ์เดลตา ซึ่งความน่ากังวลคือเชื้ออาจลงปอดได้

 

สถานการณ์ทั่วโลก แนวโน้มพบ BA.4 และ BA.5 เพิ่มขึ้น 

สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ขณะนี้หลายประเทศพบการเพิ่มจำนวน (growth rate) ของ BA.5 เพิ่มขึ้น (พบใน 62 ประเทศ) ส่วน BA.4 (พบใน 58 ประเทศ) และ BA.2.12.1 (พบใน 69 ประเทศ) มีแนวโน้มลดลง

 

ข้อมูล (รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม) โควิดโลก "GISAID" ระบุว่า  ขณะนี้ทั่วโลกพบโอมิครอน BA.4 สะสม 14,655 ราย และ BA.5 สะสม 31,577 ราย ซึ่งทั้งสองตัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

"ถ้าข้อมูลสถานการณ์ทั่วโลกถูกต้อง อีกไม่นานเราคงจะพบการแพร่ระบาดของโอมิครอน BA.5 ทั่วโลกรวมทั้งไทย และในอนาคตก็อาจจะเจอ BA.4 เพิ่มขึ้นด้วย ถึงแม้จะมีบางข้อมูลระบุว่า BA.4 มีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังต้องจับตาว่าจะเป็นการลดลงชั่วคราวหรือไม่" นพ.ศุภกิจ กล่าว

WHO ระบุชัดเจนว่า โอมิครอน BA.4 และ BA.5 มีการแพร่เร็วขึ้น

ขณะที่ WHO ระบุชัดเจนว่า โอมิครอน BA.4 และ BA.5 มีการแพร่เร็วขึ้น (Growth advantage) เมื่อเทียบกับโอมิครอน BA.2 และที่สำคัญ คือ แอนติบอดีที่จะทำลายฤทธิ์ของเชื้อใช้ได้น้อยลง หรือทั้งสองตัวสามารถสู้แอนติบอดีได้ดีกว่า BA.2 นอกจากนี้ ยารักษายังตอบสนองน้อยลงด้วย อย่างไรก็ดี เรื่องความรุนแรงของทั้งสายพันธุ์ย่อยทั้งสองนั้น ยังต้องรอผลสรุปอีกครั้ง

 

หน่วยงาน UK Health Security Agency ของอังกฤษตั้งข้อสังเกตว่า โอมิครอน BA.4 และ BA.5 แพร่เร็วกว่าในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และแอฟริกา ส่วนประเทศฝรั่งเศส และเยอรมนียังอยู่ระดับใกล้เคียงกัน ขณะที่เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และโปรตุเกส มีการระบาดน้อยกว่าสายพันธุ์ BA.2

 

 อย่างไรก็ดี มีผลการศึกษาว่า กลุ่มที่เคยติดเชื้อโอมิครอน BA.1 สามารถติดเชื้อโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ซ้ำได้ โดยจากการทดสอบภูมิคุ้มกัน (NT activity) ของเซรั่มที่ได้จากคนที่เคยติดเชื้อ BA.1 กับเชื้อ BA.4 และ BA.5 พบว่า คนที่ไม่เคยได้รับวัคซีน ภูมิคุ้มกันจะลดลงประมาณ 7 เท่า ส่วนคนที่ได้รับวัคซีน ภูมิคุ้มกันจะลดลงประมาณ 3 เท่า แสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนยังคงมีความจำเป็นอยู่

 

ดังนั้น การมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอยังมีความจำเป็น รวมถึงมาตรการการป้องกันตนเองที่เหมาะสม  เช่น การล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น

การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังคงมีความจำเป็นอยู่

"วันนี้ราชกิจจานุเบกษา ประกาศแล้วว่าไม่บังคับสวมหน้ากาก เชื่อว่าหลายคนมีประสบการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่าการสวมหน้ากากช่วยลดอาการหวัด ถ้าอยู่คนเดียว หรือที่ที่ไม่มีคนก็สามารถถอดหน้ากากได้ แต่ถ้าต้องอยู่ในที่ที่คนเยอะๆ ก็ควรใส่หน้ากากอยู่ เพราะสามารถป้องกันได้หลายโรค โดยเฉพาะผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ" นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

ด้าน นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ยืนยันว่ายังสามารถตรวจหาเชื้อได้ทุกสายพันธุ์ รวมทั้งโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่พบว่าติดเชื้อโควิดนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจหาสายพันธุ์ทุกคน