15 มิถุนายน 2565 - หลังจากวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศไทย ปลดล็อกการใช้กัญชา - กัญชง ในหมู่ประชาชน พบกระแสการตื่นตัวทางธุรกิจมากมาย รวมไปถึง การนำกัญชาไปใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่มด้วย อย่างไรก็ตาม ในแง่ลบ เกิดกรณี มีผู้เผลอรับประทานข้าวจากร้านที่มีการผสมกัญชาเข้าไป มีอาการทรมานแพ้หนัก คอบวม กลืนน้ำลายไม่ได้ ส่วนอีกราย มี เด็กชักเข้าโรงพยาบาล หลังจากรับประทานก๋วยเตี๋ยวที่ใส่กัญชาเข้าไป
ล่าสุด ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์แฟนเพจ : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยระบุ ถึงอันตรายของการใช้กัญชาที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการนำกัญชามาปรุงอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมยก 8 ข้อแนะนำในการใช้กัญชาที่ถูกต้อง ตามใจความดังนี้ ...
ตอนนี้ หลังจากที่กัญชาถูกปลดออกจากรายชื่อสิ่งเสพติดของประเทศไทยไปแล้ว และมีคนนำมาอุปโภคบริโภคกันมากขึ้น โดยเฉพาะในการนำมาประกอบอาหาร จนทำให้เริ่มมีข่าวของผู้ที่รับประทานอาหารที่ใส่กัญชาลงไปแล้วเกิดอาการป่วย ตั้งแต่ไม่มากไปจนถึงกับรุนแรง ตามแต่ระดับการแพ้ของแต่ละคน
เลยขอสรุปข้อแนะนำจากทาง ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ที่เกี่ยวข้องกับการนำกัญชามาประกอบอาหารและเครื่องดื่ม ดังต่อไปนี้
8 ข้อแนะนำ นำ 'กัญชา' มาทำอาหาร
- ไม่ควรใช้ "ช่อดอกกัญชา" เพราะมีสาร THC ทีเอชซี ที่ฤทธิ์มึนเมาสูง รวมทั้งไม่ควรใส่ส่วนอื่นของกัญชา เช่น กิ่ง ก้าน ลำต้น ราก ลงไปด้วย (ให้ใช้แต่ใบเท่านั้น)
- อาหารประเภท ต้ม ผัด แกง ทอด ให้ใช้ใบกัญชาสด ใส่ได้ไม่เกิน 1-2 ใบ/เมนู เพราะถ้าใช้มากเกินไป จะมีผลข้างเคียงหรือนำไปสู่การเสพติดได้
- ร้านค้าที่ประกอบอาหาร หรือทำผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ต้องเขียนบอกผู้บริโภคให้ชัดว่า อาหารนั้นมีกัญชาเป็นส่วนประกอบ เพราะมีหลายคนที่แพ้ และไม่ใช่ว่าทุกคนจะชอบรสชาติของกัญชา
- ห้ามไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ ว่าอาหารที่ใส่กัญชานั้น มีสรรพคุณรักษาหรือป้องกันโรคได้ ถ้าไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์ที่รักษาโรคด้วยกัญชา
- เด็ก เยาวชน คนที่อายุต่ำกว่า 25 ปี สตรีมีครรภ์และให้นมลูก ไม่ควรกินอาหารที่มีส่วนผสมกัญชา เพราะเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายต่อสุขภาพ
- คนที่แพ้สาร THC หรือแม้แต่สาร CBD ซีบีดี หรือสารอื่นๆ ในกัญชา จะต้องไม่บริโภคกัญชา เพราะอาจจะเสี่ยงอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้
- คนที่บริโภคกัญชาไปแล้ว ไม่ควรขับขี่รถ หรือทำงานกับเครื่องจักรกล เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเช่นกัน
- หากจำเป็นต้องกินหรือใช้กัญชา ควรจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข้อแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้กัญชา
- หลีกเลี่ยงการใช้กัญชาในรูปแบบ “สูบ” เพราะควันจากกัญชาเป็นอันตรายกับปอดและระบบทางเดินหายใจ
- หลีกเลี่ยงการใช้ "ช่อดอก" กัญชา เพราะมีสาร delta-9
- THC ความเข้มข้นสูง ทำให้เกิดพิษต่อสมอง จิตประสาท ระบบการเคลื่อนไหว และทำให้เกิดการ “ดื้อต่อสาร” หรืออาการเสพติดได้
- คนที่มีโรคประจำตัวทางกายและใจ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้กัญชา เพราะอาจกระตุ้นทำให้โรคมีอาการมากขึ้น หรือไปทำอันตรกิริยากับยารักษาโรคที่ใช้อยู่ จนกระทบกับการรักษาได้
- หากต้องการครอบครอง เช่น ปลูก ขาย หรือไว้ใช้ในครัวเรือน ควรจดแจ้งให้ถูกต้อง และเก็บต้นกัญชาให้พ้นสายตาคน โดยเฉพาะเด็ก-เยาวชน
- ให้ครู ผู้ปกครอง ทำความเข้าใจกับเด็กและเยาวชน ถึงผลกระทบจาก “กัญชา” ด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช้อารมณ์ เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้อยากลองใช้
- งานวิจัยพบว่า กัญชามีผลกระทบกับสมอง ทำให้เด็ก-เยาวชน มีความสามารถทางสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ลดลง โดยมักเกิดจากการใช้ในรูปแบบสูบ หรือใส่ผสมอาหารเป็นปริมาณมากเกิน
- กัญชา มีผลกระทบระยะสั้น เช่น มึนเมา ใจเต้นแรง ความดันต่ำหรือสูงเกินไป อารมณ์แปรปรวน คลื่นไส้ อาเจียนฯ
- กัญชา มีผลกระทบระยะยาว เช่น หากใช้เกิน 2-3 ปีขึ้นไป เพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคจิตเภท สมาธิสั้น ความคิด ความจำแย่ลงฯ
- สารทีเอชซี THC (Tetrahydrocannabinol) เป็นสารเสพติด มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท หากไม่ควบคุม จะทำให้อยากใช้มากขึ้น
ทั้งนี้ ดร.เจษฎา ยังระบุว่า องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันพบว่าใน ใบสด ของกัญชา จะพบสาร cannabidiolic acid (CBDA) และ Tetrahydrocannabinolic acid (THCA) ซึ่งไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ไม่เมา)แต่เมื่อถูกแสงและความร้อน ทั้งจากการปรุงและเก็บรักษา จะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลง (decarboxylation)โดยสาร THCA จะถูกเปลี่ยนเป็นสาร THC (ที่ทำให้เมา)
มีการศึกษาพบว่าหากใช้ความร้อน 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง หรือ 98 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 ชั่วโมง หรือ 160 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10 นาที หรือ 200 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1-2 วินาที สาร THCA จะถูกเปลี่ยนเป็นเป็นสาร THC อย่างสมบูรณ์ การสูบกัญชาจะทำให้สาร THCA จะถูกเปลี่ยนเป็นสาร THC ประมาณ 95% ใบกัญชาแห้งที่ถูกเก็บไว้ สาร THCA จะถูกเปลี่ยนเป็นสาร THC อย่างช้าๆ
ที่มา : ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.)