กัญชาส่วนไหนกินได้-ไม่ควรกิน ใครเสี่ยงแพ้กัญชา พร้อมวิธีกินให้ปลอดภัย

14 มิ.ย. 2565 | 12:20 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2565 | 21:23 น.
6.4 k

กัญชาถูกกฎหมายเเล้ว มาทำความเข้าใจว่า กัญชาส่วนไหนกินได้-ไม่ควรกิน คนกลุ่มไหนเสี่ยงแพ้กัญชา พร้อมกินให้ปลอดภัย

ปลดล็อกกัญชาเสรี เป็นช่วงกัญชาสามารถนำมาปลูกกินเองในบ้านได้ รวมทั้งนำมาปรุงอาหารทั้งกินเองและทำขายได้ ล่าสุด กรมอนามัย ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมานี้

โดยให้ยกเลิกความในข้อ 3 เปลี่ยนเป็นกำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการจัดเก็บใบกัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสีย แทน

“กัญชา” ส่วนไหนกินได้ ส่วนไหนไม่ควรกิน

  • กัญชามีสาระสำคัญ 2 ชนิด คือ CBD และ THC
  • THC ในกัญชาทำให้มึนเมา แต่ละส่วนของกัญชาจะมีสาร THC ต่างกัน
  • THC เข้มข้นที่สุดไม่แนะนำในแง่นำมาใช้ เพราะทำให้เป็นพิษ และเมาได้
  • ใบกัญชาสด เป็นส่วนของกัญชาที่นิยมนำมาประกอบอาหาร
  • เป็นใบสดที่เพิ่งเก็บจากต้น ไม่มีสารเมา แต่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ อาจนำมากินกับน้ำพริก หรือผสมกับผักอื่นๆ กินแบบสลัด
  • เมื่อใบกัญชาผ่านความร้อน หรือเก็บไว้นานๆ จะมีสารเมา THC และสารต้านเมา CBD ขึ้น
  • ใบอ่อนมีปริมาณสารมากกว่าใบแก่ สารสองชนิดนี้ พบปริมาณสูงสุดเมื่อพืชมีอายุ 2 เดือน

 

“กัญชา” กินอย่างไรให้ปลอดภัย 

  • แนะนำให้กินไม่เกินวันละ 5 ใบ
  • หากกินเกิน 5 ใบ อาจส่งผลให้เกิดอาการใจสั่น ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน วิงเวียน และปวดหัวได้
  • ผู้ที่เพิ่งกินกัญชาหรือเริ่มกินเป็นครั้งแรก ควรเริ่มกินที่ครึ่งใบ แล้วรอดูผลหลังการกิน 2 ชั่วโมง หากมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ให้ดื่มน้ำมาก ๆ หากมีอาการมึนเมา ให้ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำตาลหรือน้ำผึ้ง หรือดื่มชารางจืด เพื่อบรรเทาอาการ
  • หลังใช้กัญชาแล้ว ใน 6 ชั่วโมงไม่ควรขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรต่างๆ และการใช้กัญชาและแอลกอฮอล์ร่วมกันยิ่งทำให้สมรรถนะลดลง

 

ใครเสี่ยงอันตรายจากกัญชา

  • เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร 
  • ผู้ที่แพ้ หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนิบอล หรือสารแคนนาบิไดออล ควรระวังในการรับประทาน
  • ผู้ที่จำเป็นต้องขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับตับ ไตบกพร่อง โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาฟาร์ริน
  • ผู้ที่ใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง
  • มีประวัติความผิดปกติทางจิตเวช
  • ผู้สูงอายุ
  •  บางกลุ่มอาจสามารถบริโภคกัญชาได้ แต่ต้องเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน