กว่าจะเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต ย้อนความเป็นมา 10 ปี จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้

08 มิ.ย. 2565 | 05:27 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2565 | 13:12 น.
2.8 k

กว่าจะเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต กฎหมายฉบับใหม่ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศ ของคู่รักเพศเดียวกัน ย้อนอดีตความเป็นมาของการจัดทำกฎหมายฉบับประวัติศาสตร์ฉบับนี้ หลังจากใช้เวลาผลักดันมายาวนาน 10 ปี จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้เป็นยังไงต้องติดตาม

ในที่สุดก็ผ่านพ้นขั้นตอนสำคัญไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อสร้างความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศ และเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครองตามหลักสากลของคู่รักเพศเดียวกัน หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างกฎหมาย และเตรียมจะนำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

 

ความเป็นมาของการผลักดันร่างกฎหมายใหม่ของประเทศครั้งนี้ จุดเริ่มต้นคงต้องย้อนไปนานถึง 10 ปี หลังจากกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้เริ่มหารือร่วมกับภาคส่วนต่าง ในการจัดทำร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มของการผลักดันกฎหมายออกมาอย่างเป็นทางการ

 

ร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้ผ่านการทบทวนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่น ๆ สารพัด รวมไปถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหลายครั้งเพื่อให้กฎหมายมีความสมบูรณ์ ครอบคลุมสิทธิต่าง ๆ ที่คู่ชีวิตควรจะได้รับ และสามารถนำมาปรับใช้ในทางปฏิบัติได้จริง

 

ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และความหลากหลายทางเพศ

 

ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาและปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฯ ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานศาลยุติธรรม 

 

โดยประชุมร่วมกัน 12 ครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2562 ถึงวันที่ 9 มกราคม 2563 ซึ่งกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีหนังสือแจ้งยืนยันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. ... และพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ... เรียบร้อยแล้ว ซึ่งครม.ได้มีมติเห็นชอบด้วยกับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563

จากนั้นกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับผศ.ดร. ธีรเดช มโนลีหกุล และผศ.ดร. สาธิตา วิมลคุณารักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และคณะ ดำเนินการตามมติครม.เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563

 

โดยได้ทบทวนหลักการ เหตุผล และความจำเป็นในการมีร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ รวมทั้งจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและหารือ กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มศาสนาเรียบร้อยแล้ว

 

จนล่าสุดกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้จัดการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับอีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 เพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการตามมติครม.เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 เรียบร้อยแล้ว จึงเสนอมายังที่ประชุมครม. เพื่อเห็นชอบ ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรเป็นลำดับต่อไป

 

ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และความหลากหลายทางเพศ

ย้อนไทม์ไลน์ เกี่ยวกับมติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต

 

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 

 

ครม.มีมติเห็นชอบประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557 - 2561) ซึ่งได้กำหนดแผนสิทธิมนุษยชนของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ/อัตลักษณ์ทางเพศ โดยระบุให้มีการส่งเสริมการออกกฎหมาย เพื่อรับรองสิทธิกับทุกคู่ชีวิตอย่างเท่าเทียม เพื่อรองรับความหลากหลายทางเพศในสังคมและเพื่อไม่ให้เป็นการตีตราซ้ำ

 

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560

 

ครม.มีมติเห็นชอบและประกาศใช้ “วาระแห่งชาติ - สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อ การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยการผลักดันร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต พ.ศ. .... ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญ ภายใต้วาระแห่งชาติฉบับดังกล่าว

 

วันที่ 25 ธันวาคม 2561

 

ครม.เห็นชอบหลักการและสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พร้อมทั้งส่งให้ คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป

 

วันที่ 30 มิถุนายน 2563

 

ครม.เห็นชอบ และประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 - 2565) ซึ่งได้กำหนดแผนสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม ความหลากหลายทางเพศ/อัตลักษณ์ทางเพศ โดยมีข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการในการส่งเสริมการออกกฎหมาย เพื่อรับรองสิทธิกับทุกคู่ชีวิตอย่างเท่าเทียม และเพื่อรองรับความหลากหลายทางเพศในสังคมและเพื่อไม่ให้เป็นการตีตราซ้ำ

 

วันที่ 8 กรกฎาคม 2563

 

ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) 

 

วันที่ 15 ธันวาคม 2563

 

ครม.มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม พิจารณาทบทวนหลักการ เหตุผล และความจำเป็นในการมีร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ให้มีความชัดเจน โดยคำนึงถึงกฎหมายอื่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน และหลักศาสนา รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มในทุกมิติ

 

วันที่ 29 มีนาคม 2565

 

ครม. มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และอยู่ระหว่างการทบทวนตามข้อสังเกตของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร 

 

วันที่ 7 มิถุนายน 2565

 

ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... และเสนอสภาผู้แทนราษฎร ตามขั้นตอนต่อไป 

 

ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต

 

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีด้วยกันดังนี้

  1. คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้
  2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้ 
  3. การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย รวมทั้งกำหนดบุคคลต้องห้ามไม่ให้จดทะเบียนคู่ชีวิต เช่น ทั้งสองคนเป็นญาติสืบสายโลหิตกัน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา เป็นต้น
  4. กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล และเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ
  5. กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับลักษณะความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต เช่น ต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน
  6. คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป. วิ อาญา)
  7. ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต แบ่งเป็นสินส่วนตัวและทรัพย์สินร่วมกัน 
  8. การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต คู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือการเลิกการเป็นคู่ชีวิต รวมทั้งกำหนดเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต เช่น คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต ประพฤติชั่ว ทำร้าย ทรมานร่างกายหรือจิตใจ จงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี
  9. บุตรบุญธรรม เมื่อคู่ชีวิตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. นี้ และ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้ว สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้ 
  10. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยมรดก 
  11. กำหนดให้นำบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลมในบางกรณี

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงหลังประชุมครม. วันที่ 7 มิ.ย.2565

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ถือเป็นกฎหมายใหม่แล้ว และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 

โดยกฎหมายฉบับนี้ จะสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก เรื่องความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศ และเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครองตามหลักสากล การหมั้นหรือสมรสในเพศเดียวกัน โดยได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้แทนศาสนาจากทุกศาสนา เพื่อปิดทุกจุดอ่อนให้เป็นกฎหมายที่สร้างสรรค์สังคม และเป็นสากลอย่างแท้จริง

 

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ได้นำความเห็นจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ผู้นำศาสนาทุกศาสนา มาประกอบการพิจารณา พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก่อนเสนอมายังครม. และขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในสมัยประชุมนี้ เพื่อประกบกับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก แต่จะประกาศใช้ทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่นั้น ยังไม่ยืนยัน