ปล่อยกัญชาเสรี "ทิชา" ถาม ใครรับผิดชอบ? กระทบเด็กเยาวชน-สังคมไทย

06 มิ.ย. 2565 | 14:55 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2565 | 22:06 น.

“ทิชา” จี้ ถามการเมือง-กลุ่มแพทย์ ใครรับผิดชอบ ปล่อยกัญชาเสรี สร้างหลุมดำเด็กเยาวชนในสังคมไทย ห่วงผลกระทบเด็ก-เยาวชนจากสารเสพติด ซัดหรือมองกัญชาเป็นสินค้าทางการเมือง  

วันที่ 6 มิ.ย.65 นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก และที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า ขณะนี้ใกล้จะครบเวลา 120  วัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้กัญชายาเสพติดประเภทที่ 5 ไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป หลังวันที่ 9 มิ.ย.2565 ซึ่งเท่ากับเสรีภาพในการเข้าถึงกัญชาเป็นของทุกคนรวมถึงเด็กและเยาวชนด้วย

 

ทั้งนี้ข้อดีคือการที่กัญชาถูกนำไปใช้ในทางการแพทย์ แต่อย่าลืมว่ากัญชายังคงมีสารเสพติดอยู่ คำถามคือ ใครคือผู้รับผิดชอบการเข้าถึงกัญชาโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน หลังวันที่ 9 มิ.ย.นี้

 

ทั้งนี้ในประเทศที่เปิดพื้นที่ให้กัญชาแบบ 360 องศา หรือเสรี ยกตัวอย่างประเทศอุรุกวัยยังมีข้อห้ามจำนวนมาก  อาทิ หีบห่อต้องไม่มีลวดลาย ไม่ให้มีการโฆษณา หรือการส่งเสริมการขาย ไม่ให้มีทุนอุปถัมภ์ รวมถึงการห้ามขับรถ เป็นต้น

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก และที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว

“กัญชาทางการแพทย์ ยกระดับเป็นกัญชาเสรี ชั่วข้ามคืนได้อย่างไร หรือเป็นเพราะกัญชา คือสินค้าทางการเมือง” นางทิชา กล่าว

 

นางทิชา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ไม่มีใครไม่รู้ว่ากัญชาเสรี คือ หลุมดำของเด็กและเยาวชน ซึ่งการสร้างโอกาส การสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลสุขภาพอย่างไร้ขีดจำกัด คือหน้าที่ของฝ่ายการเมืองและบุคลากรทางการแพทย์

 

แต่ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่สำคัญที่จะต้องร่วมกับทุกฝ่ายในสังคมในการการปกป้อง ดูแล สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเติบโตในระบบนิเวศที่ไม่ทำลายทุนชีวิต พร้อมสนับสนุนทุนชีวิต

 

 

แต่กลับนำกัญชาเพื่อการแพทย์ กัญชาเพื่อสุขภาพ มาเป็นกัญชาเสรี โดยไม่เคยคิดทุ่มเทส่งเสริมพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ empower ของเด็กและเยาวชน ดังนั้นตนขอถามๆ ถึงฝ่ายการเมืองและบุคลากรทางการแพทย์ที่ช่วยฝ่ายการเมืองจะรับผิดชอบหลุมดำ หลุมใหม่ของสังคมได้อย่างไร ขอให้ตอบมาด้วย