จะเกิดอะไรขึ้น? หลังปลดล็อกกัญชา พ้นยาเสพติด 9 มิ.ย. 65

05 มิ.ย. 2565 | 11:55 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2565 | 18:56 น.
3.6 k

จะเกิดอะไรขึ้น? หลังปลดล็อกกัญชา พ้นยาเสพติด 9 มิ.ย. 65 : คอลัมน์บทความ โดย เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,789 หน้า 5 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน 2565

คณะแพทย์ นักวิจัย และนักวิชาการ ด้านยาเสพติด เยาวชน และสุขภาพจิตระดับประเทศ 20 คน ในฐานะ “เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด” อาทิ นพ.ชาตรี บานชื่น อดีตกรรมการแพทยสภา อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต และอดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ ที่ปรึกษาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ สหประชาชาติ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก 

 

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health, Canada รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์วัยรุ่น และผู้จัดการโครงการต้นทุนชีวิตประเทศไทย ฯลฯ ร่วมออกประกาศข้อเท็จจริงที่ควรทราบ “สังคมไทยจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป” โดยเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้  

 

1. กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ฉบับลงนามวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 9 ก.พ. 2565) จะมีผลบังคับใช้หลังพ้น 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป    

 

ประกาศฉบับนี้กำหนดให้เฉพาะ“สารสกัด” ที่มี THC มากกว่าร้อยละ 0.2 โดยนํ้าหนักเท่านั้น ที่เป็นยาเสพติด ส่งผลให้ “พืชกัญชา (เช่น ช่อดอก ซึ่งไม่ใช่สารสกัด แต่มี THC สูงถึงร้อยละ 10-20)” จะไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป ซึ่งเท่ากับเป็นนโยบายกัญชาเสรี ไปไกลเกินกว่านโยบายกัญชาทางการแพทย์มาก ทุกคนสามารถสูบช่อดอกกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งรวมถึงเด็กและเยาวชนด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอ (หมายเหตุ: พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 ห้ามไม่ให้เด็กอายุตํ่ากว่าสิบแปดปีสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่มีการห้ามเสพกัญชา เนื่องจากในสมัยนั้นกัญชายังเป็นยาเสพติด)   

 

 

จะเกิดอะไรขึ้น?  หลังปลดล็อกกัญชา พ้นยาเสพติด 9 มิ.ย. 65

 

 

2. ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ซึ่งเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดในระดับหนึ่ง ได้ถูกบรรจุในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาวาระ 1 ในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎรตามระเบียบมาตรฐาน และจะต้องเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป

 

กระบวนการทั้งหมดนี้จึงต้องใช้เวลา และไม่มีทางเสร็จสิ้นทันก่อนวันที่ 9 มิถุนายนนี้  จึงจะส่งผลให้เกิดสุญญากาศทางนโยบาย คือ กัญชาจะเป็นพืชที่ไม่เป็นยาเสพติดตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 นี้เป็นต้นไป และจะไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอ ประชาชนทุกครัวเรือนจะสามารถปลูกและใช้กัญชาได้เหมือนการปลูกพริกปลูกผักทั่วไป หากไม่นำกัญชาไปสกัด 

 

แม้กระทรวงสาธารณสุขจะออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้กลิ่นและควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดในทำนองเดียวกันเป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. ... ก็จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนรำคาญที่ผู้สูบกัญชามีต่อผู้อื่นในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ 

 

แต่ไม่ได้เป็นการแก้ต้นเหตุ คือไม่สามารถควบคุมการปลูกและการนำช่อดอกกัญชาไปสูบโดยเยาวชนหรือประชาชนแต่ประการใด ทำให้สามารถคาดคะเนได้ว่า จะมีการนำช่อดอกกัญชาที่ปลูกในครัวเรือน (ซึ่งสามารถปลูกได้โดยไม่จำกัดจำนวน) ไปสูบโดยเด็กและเยาวชน และแม้แต่ผู้ใหญ่ มากเพียงใด  

 

ดังที่เริ่มมีเยาวชนไทยเริ่มทดลองสูบกัญชาที่ปลูกในบ้านเพื่อน ด้วยอุปกรณ์ที่ทำขึ้นเองจากการดู YouTube หลังจากที่มีการประกาศประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ อีกทั้งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า มีการสูบกัญชามากขึ้นในกลุ่มเยาวชนในประเทศแคนาดา และบางรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาหลังจากที่มีนโยบายกัญชาเพื่อนันทนาการ

 

3. แม้ประเทศที่ให้ใช้กัญชาอย่างเสรีที่สุด คือ ให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการได้ ยังมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้น เช่น ประเทศอุรุกวัย รัฐผูกขาดการค้าส่งในประเทศ ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ซื้อขายในตลาดจะต้องบรรจุในถุงที่ไม่มีลวดลายใดๆ ถุงบรรจุนี้ระบุได้เพียงร้อยละของ THC และข้อความคำเตือนเกี่ยวกับการใช้กัญชา มีมาตรการห้ามโฆษณา ห้ามให้ทุนอุปถัมภ์ และห้ามส่งเสริมการขายโดยสิ้นเชิง และมีมาตรการกำหนดไม่ให้เสพกัญชาแล้วขับขี่ยานพาหนะ และมีมาตรการภาษีกัญชา   

 

ส่วนประเทศแคนาดา รัฐผูกขาดการค้าส่ง มีการควบคุมการครอบครองกัญชาในที่สาธารณะ (เช่น ห้ามครอบครองเกินหนึ่งต้นกัญชาที่มีช่อดอกในที่สาธารณะ) ห้ามแสดงผลิตภัณฑ์กัญชา หรือ บรรจุภัณฑ์ หรือ สลาก ให้เยาวชนเห็น ส่งผลให้มีแต่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาในร้านที่จำหน่ายกัญชาโดยเฉพาะซึ่งห้ามเยาวชนเข้า (คือไม่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาให้เห็นได้ทั่วไป)   

ห้ามการโฆษณาโดยรูปแบบ/วิธีการ/เนื้อหาที่เยาวชนสนใจ มีการอนุญาตให้ปลูกกัญชาในครัวเรือนได้ แต่ต้องไม่เกินครัวเรือนละสี่ต้น และห้ามปลูกให้เห็นได้จากที่สาธารณะนอกบ้าน และบริเวณที่ปลูกในบ้านต้องไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงได้ (เช่น เด็กๆ ในบ้านต้องไม่สามารถเข้าถึงได้) และมีมาตรการภาษีกัญชา เป็นต้น   

 

จึงสรุปได้ว่า แม้ประเทศที่ปล่อยให้มีการใช้กัญชาอย่างเสรีที่สุด คือ สามารถใช้เพื่อนันทนาการได้ ยังมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้น เพราะเล็งเห็นโทษที่จะตามมาหากปล่อยให้มีการใช้กัญชาในทางที่ผิดมากๆ จึงไม่มีประเทศใดในโลกที่กำหนดให้มีนโยบายกัญชาเสรีโดยไม่มีการควบคุมใดๆ

 

4. เงื่อนไขสำคัญที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองามเป็นประธาน มีมติเห็นชอบในวันที่ 25 มกราคม 2565 ต่อประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ แต่ให้มีผลบังคับใช้ ใน 120 วัน คือ เพื่อให้มีการกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ในทางที่ผิด (เช่น สูบดอกกัญชาเพื่อการนันทนาการ) อย่างเพียงพอ ก่อนที่ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้จริงๆ และยังได้อภิปรายในที่ประชุมว่า สามารถที่จะขยายเวลาออกไปได้อีกหากยังไม่มีมาตรการควบคุมการใช้ในทางที่ผิด 

 

จึงมีความชอบธรรมอย่างยิ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. จะพิจารณาชะลอการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ไปก่อน และจะยิ่งเป็นความสง่างามของกระทรวงสาธารณสุข หากกระทรวงสาธารณสุข จะพิจารณาเสนอให้ชะลอการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ด้วยตนเอง เพื่อปกป้องสุขภาพของเยาวชนและประชาชน เนื่อง จากยังไม่มีมาตรการควบคุมการใช้ใน ทางที่ผิดอย่างเพียงพอ