กฎหมาย PDPA พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล บังคับใช้วันนี้ ทำอะไรได้ไม่ได้

01 มิ.ย. 2565 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2565 | 01:26 น.
5.0 k

สรุป กฎหมาย PDPA พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล คืออะไร บังคับใช้แล้ววันนี้ ถ่ายรูป โพสต์คลิป เซลฟี่ เผยแพร่ภาพกล้องวงจรปิด กล้องถ่ายหน้ารถ ทำอะไรได้ ไม่ได้บ้าง

เริ่มต้นวันนี้ 1มิ.ย.65 บังคับใช้ "พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562" หรือ PDPA (Personal Data Protection Act (B.E.2562) หลังจากมีการเลื่อนประกาศใช้มาแล้ว 2 ปี

กฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act: PDPA) หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เพื่อให้บริษัท พนักงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

กฎหมาย PDPA พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล บังคับใช้วันนี้ ทำอะไรได้ไม่ได้

ใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล

  1. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject) คือ บุคคลที่ข้อมูลสามารถระบุไปถึงได้
  2. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) คือ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจ เกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
  3. ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Data Processor) คือ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับ การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ตามคำสั่งหรือในนามของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล

 

เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล มีสิทธิอะไรบ้าง

  • ถอดถอนความยินยอม ในกรณีที่ได้ให้ความยินยอมไว้
  • การได้รับการแจ้งให้ทราบรายละเอียด (Privacy Notice)
  • ขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล
  • ขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล
  • คัดค้านการเก็บรวบรวมใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
  • ขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้
  • ขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล
  • ขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล
  • ร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในกรณีที่มีการฝ่าฝืนและไม่ปฏฺิบัติตามกฎหมายหรือประกาศที่ออกตามกฎหมาย PDPA
  • หากมีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงที่จะกระทบสิทธิเสรีภาพของเจ้าของ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่แจ้งเหตุการละเมิดให้เจ้าของส่วนบุคคลทราบ และมีแนวทางการเยียวยาโดยไม่ชักช้า

 

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PCDC Thailand กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้อธิบาย 4 เรื่องที่คนเข้าใจผิด เกี่ยวกับกฎหมาย PDPA ดังต่อไปนี้

 

ถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่น เจ้าตัวไม่ยินยอมจะผิด PDPA

  • การถ่ายรูป-ถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่นโดยผู้ถ่ายรูป-ถ่ายคลิปไม่เจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้ หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว

 

นำคลิปหรือรูปถ่ายที่ติดคนอื่นไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียโดยบุคคลอื่นไม่ยินยอมจะผิด PDPA

  • สามารถโพสท์ได้ หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

 

ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนผิด PDPA

  • การติดกล้องวงจรปิด ภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน

 

เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้

ไม่จำเป็น ต้องขอความยินยอม หากการใช้ข้อมูลดังกล่าว

  • เป็นการทำตามสัญญา
  • เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ
  • เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล
  • เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ
  • เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
  • เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง

กฎหมาย PDPA พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล บังคับใช้วันนี้ ทำอะไรได้ไม่ได้

 

 PDPA บังคับใช้แล้ว ไม่ปฏิบัติตามมีบทลงโทษอะไรบ้าง 

  • การกระทำใดๆ กับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล มาตรา 83 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาท
  • การเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหวโดยไม่ได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้ง และน่าจะทำให้เจ้าของข้อมูลเสียหาย มาตรา 79 วรรคสอง กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท
  • การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอม และน่าจะทำให้เจ้าของข้อมูลเสียหาย มาตรา 79 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500,000 บาท ถ้าผู้ประกอบการเปิดเผยข้อมูลเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยไม่ได้รับความ ยินยอม มาตรา 79 วรรคสอง กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท
  • การกระทำใดๆ กับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้ผ่านการขอความยินยอมตามรูปแบบที่ถูกต้อง มาตรา 82 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท
  • การกระทำใดๆ กับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้แจ้งวัตถุประสงค์ แจ้งรายละเอียด และแจ้งสิทธิของเจ้าของข้อมูล มาตรา 82 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท
  • การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากแหล่งอื่นที่ไม่ได้จากเจ้าของข้อมูลโดยตรง โดยไม่มีข้อยกเว้นให้เก็บข้อมูลได้ มาตรา 83 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาท
  • ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญมีอำนาจสั่งให้ส่งเอกสารหรือให้ข้อมูล หรือเรียกบุคคลมาชี้แจงข้อมูลได้ หากมีความจำเป็นก็อาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเข้าค้น และยึดเอกสารเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ หากผู้ประกอบกิจการได้รับคำสั่งจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญแล้วไม่ให้ความร่วมมือ ไม่มาชี้แจงข้อเท็จจิรง มาตรา 89 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • มาตรา 77 กำหนดว่า ผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลฯ ทำให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของข้อมูล เว้นแต่เป็นเหตุสุดวิสัย หรือความเสียหายเกิดจากการกระทำของเจ้าของข้อมูลเอง หรือเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่

บทลงโทษ PDPA