PDPA พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีอะไรบ้างไม่ต้องขอความยินยอมก่อน

31 พ.ค. 2565 | 12:35 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2565 | 19:33 น.

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผย PDPA พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะบังคับใช้เต็มรูปแบบ มีอะไรบ้างไม่ต้องขอความยินยอมก่อน

PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ วันที่ 1 มิถุนายน โดย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือชื่อย่อ PDPA (Personal Data Protection Act) ล่าสุด พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ และเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดสิทธิ และข้อมูลส่วนบุคคลที่ประชาชนอาจเกิดความวิตกกังวล

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า มีพี่น้องประชาชนบางส่วนยังขาดความเข้าใจในตัวกฎหมาย นอกจากนี้ได้มีการส่งต่อข้อความที่มีความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เข้าใจผิดต่อกฎหมายดังกล่าว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้เเจงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าว 

 

  1. การถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอที่ติดภาพของบุคคลอื่นโดยไม่เจตนา และไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลที่ถูกถ่าย หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว สามารถทำได้
  2. การโพสต์ภาพหรือคลิปวิดีโอที่ติดภาพของบุคคลอื่นในสื่อสังคมออนไลน์ หากทำเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย สามารถทำได้
  3. การติดกล้องวงจรปิดภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากติดเพื่อป้องกันอาชญากรรมและรักษาความปลอดภัย
  4. การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมก่อน 
  •  เป็นการทำตามสัญญา
  • เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ
  •  เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิต หรือร่างกายของบุคคล
  • เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ
  • เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
  • เป็นการใช้เพื่อปกป้องประโยชน์ หรือสิทธิของตน