เคลียร์ให้ชัด! เซลฟี่ติดรูปคนอื่นแชร์ผ่านโซเชียล ผิด กม. PDPA หรือไม่

30 พ.ค. 2565 | 16:25 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2565 | 23:47 น.
3.8 k

ประธานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เคลียร์ชัด ถ่ายรูปเซลฟี่ ติดบุคคลอื่น แล้วโพสต์ แชร์ ผ่านโซเชียลผิด ไม่ผิด กม. PDPA เพราะไม่มีเจตนา สร้างความเสียหายให้บุคคลอื่น หวั่นโลกโซเชียลสร้างกระแสทำสังคมสับสน

นายเธียรชัย ณ นคร  ประธานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล   กล่าวกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่ากรณีมีการแชร์ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย ว่าถ่ายรูปเซลฟี่  ติดบุคคลอื่น แล้วโพสต์ แชร์ ผ่านโซเชียล  โดยที่เขาไม่ยินยอม ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน  2565 นั้นถือเป็นข้อมูลที่สร้างความสับสนให้กับสังคม   โดยเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  คือการมุ่งคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  ไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์  โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม

เคลียร์ให้ชัด! เซลฟี่ติดรูปคนอื่นแชร์ผ่านโซเชียล ผิด กม. PDPA หรือไม่

กรณีถ่ายรูปเซลฟี่  ติดบุคคลอื่น แล้วโพสต์ แชร์ ผ่านโซเชียล ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย  พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA  เพราะไม่ได้สร้างความเสียหายให้บุคคลอื่น  หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเกินสมควร    อย่างไรก็ตามหากบุคคลอื่น เห็นว่ารูปที่โพสต์แชร์  เป็นรูปที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งให้ผู้โพสต์นำลงจากโซเชียลได้   

 

เช่นเดียวกับกรณี ติดกล้องวงจรปิดภายในบ้านนั้นเพื่อดูแลความปลอดภัย  ไม่มีเจตนาทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ไม่ผิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล    โดยภาพวิดีโอที่เก็บบันทึกไว้ในฮาร์ดดิสก์ ระยะหนึ่งก็ถูกลบออกไป ส่วนการติดกล้องวงจรปิดนอกบริเวณบ้านอาจต้องมีการแจ้งให้ทราบว่าบริเวณดังกล่าวมีการติดกล้องวงจรปิด  เพื่อแสดงเจตนาว่ามีการเก็บบันทึกภาพเพื่อความปลอดภัย    หากมีบุคคลนำไปฟ้องร้องก็ต้องพิสูจน์ว่าภาพวิดีโอที่เก็บไว้ถูกนำไปใช้สร้างความเสียหายหรือไม่