ฝีดาษลิงในไทยควรกลัวหรือไม่ กลุ่มไหนที่มีภูมิคุ้มกัน เช็คเลย

31 พ.ค. 2565 | 03:11 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2565 | 07:25 น.
4.6 k

ฝีดาษลิงในไทยควรกลัวหรือไม่ กลุ่มไหนที่มีภูมิคุ้มกัน เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระวัฒน์เผยไวรัสน่าจะมีมานานจนพบในลิงในศูนย์สัตว์ทดลอง

ฝีดาษลิงในไทย ( Monkeypox) กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่กรมควบคุมโรค ระบุว่า พบผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย มีประวัติเดินทางมาเปลี่ยนเครื่องในสนามบินในไทย 2 ชั่วโมงเพื่อเดินทางต่อไปประเทศออสเตรเลีย  

 

ทำให้มี ผู้สัมผัสเสี่ยง 12 ราย เป็นผู้โดยสารและลูกเรือในสายการบิน ซึ่งอยู่ในระหว่างการติดตามอาการ เบื้องต้นทั้ง 12 ราย ยังไม่มีอาการ

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า

 

ฝีดาษลิง เรื่องปกติหรือต้องเครียด?

 

ฝีดาษลิง น่าจะมีมาเนิ่นนานแล้วจนกระทั่งไปพบในลิงในศูนย์สัตว์ทดลอง ในปี 1958 และที่พิสูจน์ในมนุษย์คือในปี 1970 ที่คองโก และมีการระบาดเป็นระยะ ในประเทศแอฟริกาทวีป (Benin, Cameroon, the Central African Republic, the Democratic Republic of the Congo, Gabon, Ghana พบในสัตว์,  Ivory Coast, Liberia, Nigeria, the Republic of the Congo, Sierra Leone, and South Sudan) แต่ก็สงบไปเอง 

แต่การระบาดดูเหมือนว่าจะหนาตามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นในปี 2020 องค์การอนามัยโลกได้รายงานว่ามีผู้ที่น่าจะติดเชื้อฝีดาษลิงในอัฟริกา 4594 รายและเสียชีวิต 171 ราย (สัดส่วนการเสียชีวิต case fatality ratio 3.7%) โดยที่สายพันธุ์ฝีดาษลิง สายพันธ์แอฟริกันตะวันตก จะมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกันกลาง

 

การระบาดที่หนาตาชึ้น เกิดพร้อมกับคนในประเทศต้นตอ เดินทางไปยังประเทศต่างๆ และเกิดการติดเชื้อตามมา แต่ยังเกิดในลักษณะเป็นกระจุกเล็กๆ  และสามารถสืบสาวไปถึงต้นตอในรายแรกได้ เหตุการณ์ในลักษณะนี้มีมาอยู่บ้าง ในปี 2018 และ 2019 ที่พบคนที่ติดเชื้อฝีดาษลิง จากไนจีเรียที่เดินทางไปประเทศอังกฤษและสิงคโปร์  

 

ฝีดาษลิงในไทยควรกลัวหรือไม่ กลุ่มไหนที่มีภูมิคุ้มกัน

 

ที่สำคัญที่กลัวกันก็คือลักษณะดังกล่าวแสดงถึงการแปรผันของไวรัสหรือไม่ แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานใดที่ชี้บ่งว่ามีการปรับสายพันธุ์ และอาการของโรคก็ไม่ได้รุนแรง โดยที่มีการดูแลรักษาอย่างดี

 

ทั้งนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปโดยที่ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2022 ที่มีการพบฝีดาษลิงในรายแรกที่ประเทศอังกฤษ และเกี่ยวโยงกับการเดินทางมาจากประเทศตันตอ แต่ในรายต่อมา ไม่พบประวัติการเดินทางหรือแม้แต่การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศ 

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงว่าน่าจะมีการกระจายในชุมชนโดยที่ไม่สามารถสืบเสาะหาต้นตอได้ชัดเจนแล้ว และเกิดขึ้นในมากกว่า 15 ประเทศในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ภายในเดือนพฤษภาคมในสามทวีป

 

การสืบหาต้นตอของการแพร่กระจายดูจะเชื่อมโยงไปกับงานฉลองเทศกาล pride ที่เกาะ canary และสถานซาวนา ใกล้กรุงมาดริด ซึ่งค่อนข้างจำเพาะสำหรับคนที่รักเพศเดียวกัน หรือทั้งสองเพศ (gay homosexual bisexual) ซึ่งอาจมีการสัมผัสใกล้ชิดกันรวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ และจากนั้นคนที่ร่วมอยู่ในเทศกาลเดินทางกลับถิ่นฐานของประเทศตัวเอง 

 

และนำไปสู่การแพร่กระจายในประเทศต่างๆ และทั้งนี้เป็นการแถลงจากทางการของประเทศสเปน และผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก แต่แน่นอนการกระจายในระดับต่อไปเป็นการแพร่จากการสัมผัส ใกล้ชิด ละอองฝอยจากการพูด ไอ จาม เพศสัมพันธ์ ทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ การสัมผัสกับน้ำในตุ่มหนองที่ผิวหนัง และการใช้เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม นอนในที่นอน เดียวกันที่มีไวรัสตกค้างอยู่

 

ปัญหาที่สำคัญก็คือ ทำไมการแพร่กระจายในลักษณะดังกล่าวไม่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และอาจอธิบายไม่ได้จากตัวไวรัสเอง ทั้งนี้เนื่องจากไวรัสของคนติดเชื้อในประเทศโปรตุเกสในปี 2022 ไม่ได้มีลักษณะแตกต่างจากที่พบในปี 2018 และ 2019 แต่ยังเป็นโชคดีที่ความรุนแรงของโรคไม่ได้มากมายและยังไม่พบผู้เสียชีวิต

 

สมมุติฐานที่น่าจะมีความเป็นไปได้สูงสุดก็คือ ฝีดาษลิงเตรียมพร้อมที่จะมีการปะทุขึ้นตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนในทุกประเทศทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษหรือฝีดาษซึ่งสามารถมีภูมิคุ้มกันข้ามไปยังฝีดาษลิงได้อย่างน้อยถึง 85%

 

แต่การฉีดวัคซีนไข้ทรพิษได้มีการยุติลงในปี 2523 ทั้งนี้เนื่องจากถือว่าไข้ทรพิษได้สูญไปจากโลกแล้ว ดังนั้นคนที่เกิดก่อนปี 2523 ในประเทศไทย ซึ่งน่าจะมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป น่าจะยังมีภูมิคุ้มกันฝีดาษลิงอยู่ได้ แต่ไม่ทั้งหมด
ทั้งนี้ เมื่ออ้างอิงตามหลักฐานที่มีการศึกษารายงานในวารสาร

 

นิวอิงแลนด์ในปี 2007 ศูนย์สัตว์จำพวกลิงในรัฐโอเรกอนของประเทศสหรัฐ โดยเป็นการศึกษาระยะยาวในเจ้าหน้าที่ 45 คนและทำการติดตามภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนไปยาวเฉลี่ย 15 ปีหรือนานกว่า พบว่า 60% ยังคงมีภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษลิงได้ หลังจากที่ฉีด วัคซีนไข้ทรพิษแล้ว 

 

โดยที่ประเมินว่าภูมิที่ยังเหลืออยู่นั้น ควรจะมีระยะเวลาที่ใช้ได้อยู่ถึง 90 ปีจากการดูหลักฐานในเซลล์ความจำระบบ B cell และระดับของภูมิในน้ำเหลือง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะสามารถยืนยาวได้ทั้งหมดทุกคนที่มีภูมิคุ้มกันหลงเหลืออยู่ ทั้งนี้เนื่องจากประสิทธิภาพของ  ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะถดถอยลงเรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้น 

 

ฝีดาษลิงในไทยควรกลัวหรือไม่ กลุ่มไหนที่มีภูมิคุ้มกัน

 

สถานะภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity)ที่ได้รับจากวัคซีนไข้ทรพิษ ทั้งใน อาฟริกา และทั้งโลก น่าจะเริ่มเสื่อมโทรมไป

 

นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันปาสเตอร์ได้ทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ รายงานใน bulletin ของ องค์การอนามัยโลกในปี 2020 

 

และได้ข้อสรุป และตั้งข้อสังเกตว่าฝีดาษลิงจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ แปรตาม สัดส่วนของภาวะภูมิคุ้มกันที่เริ่มลดลงในประชากรในประเทศแอฟริกา เช่น คองโก หลังจากที่หยุดการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันข้ามไปยังฝีดาษลิงได้ และเริ่มเห็นการระบาด หนาตาขึ้นเรื่อยๆ

 

และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเหมือนกับเป็นการนับวันรอปะทุ โดยที่ความสามารถในการแพร่จากคนหนึ่งไปสู่คนอื่นที่เดิมน้อยกว่าหนึ่ง ประมาณ 0.7-0.8 นั่นคือ คนติดเชื้อหนึ่งคน สามารถแพร่ต่อไปหาคนอื่นได้น้อยมาก แต่อาจจะสูงขึ้น เป็นมากกว่าหนึ่ง และนั่น หมายถึง การระบาดแพร่กระจายจะไม่จบสิ้นในเวลาอันรวดเร็ว (sustained transmission) 

 

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง หมายความว่าการฉีดวัคซีนกันฝีดาษไข้ทรพิษที่หวังผลต่อไข้ฝีดาษลิง ต้องเริ่มใหม่อีกครั้งหรือไม่ทั้งโลก?