วัคซีนป้องกันฝีดาษลิงมีกี่ประเภท ยารักษามีหรือยัง อ่านเลย

30 พ.ค. 2565 | 10:12 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2565 | 17:12 น.
2.3 k

วัคซีนป้องกันฝีดาษลิงมีกี่ประเภท ยารักษามีหรือยัง อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยเผยสหรัฐอนุมัติฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง

วัคซีนป้องกันฝีดาษลิงควรฉีดหรือไม่ กลุ่มไหนที่ควรฉีดก่อนเป็นประเด็นคำถามที่ต้องการคำตอบ หลังจากที่โรคฝีดาษลิงเริ่มแพร่กระจายไปหลายประเทศ

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

สหรัฐฯฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงแล้ว เริ่มในกลุ่มเสี่ยงคือ บุคลากรทางการแพทย์ และคนทั่วไปที่สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง

 

จากสถานการณ์ฝีดาษลิง ซึ่งได้เพิ่มจำนวนประเทศ และจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นเป็นลำดับ

 

ตลอดจนเป็นการติดเชื้อกันเองในแต่ละประเทศ โดยไม่มีประวัติการเดินทางมาจากแอฟริกา หรือการสัมผัสสัตว์ที่เป็นแหล่งกำเนิดโรค

 

ในขณะนี้ทางสหรัฐอเมริกา โดยผู้อำนวยการ USCDC ได้แจ้งว่า ทางสหรัฐฯได้เตรียมการรองรับการระบาดของฝีดาษลิงมานานนับทศวรรษแล้ว

 

โดยมีวัคซีนสองชนิด และยาต้านไวรัสอีกสองชนิด เพื่อใช้ในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopox ซึ่งรวมทั้งฝีดาษลิงและฝีดาษคน

โดยวัคซีนสองชนิดในขณะนี้ประกอบด้วย

 

  • JYNNEOS เป็นวัคซีนเชื้อเป็น ที่ไวรัสเพิ่มจำนวนไม่ได้ ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ ขณะนี้มีสำรอง 1000 โดส

 

  • ACAM 2000 เป็นวัคซีนแบบเดิมคือ เชื้อเป็นและเพิ่มจำนวนได้ ใช้วิธีสะกิดแบบปลูกฝี มีสำรองไว้ 100 ล้านโดส แต่วัคซีนนี้มีผลข้างเคียงมากกว่าวัคซีนชนิดใหม่ และยังไม่ได้ระบุว่าใช้ป้องกันฝีดาษลิงได้

 

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า วัคซีนป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) สามารถป้องกันฝีดาษลิง (Monkeypox) ได้อย่างน้อย 85%

 

วัคซีนป้องกันฝีดาษลิงมีกี่ประเภท ยารักษามีหรือยัง

 

ทางการสหรัฐฯ ได้แนะนำให้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกัน ฝีดาษลิงในกลุ่มเสี่ยงสูงแล้ว ได้แก่

 

  • บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยฝีดาษลิงโดยตรง
  • บุคคลที่มีประวัติสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยฝีดาษลิง

 

ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนปูพรมเป็นการทั่วไป เพราะฝีดาษลิงติดได้ยากกว่าโควิด-19 และขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยยังมีไม่มากนัก

ผู้ป่วยฝีดาษลิงเคสแรกในสหรัฐอเมริกา พบที่โรงพยาบาลทั่วไปของรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งทางการสหรัฐฯได้ส่งวัคซีนเพื่อฉีดให้กับบุคลากรในโรงพยาบาลดังกล่าวแล้ว

 

เป้าหมายของการจัดการสถานการณ์ฝีดาษลิงได้แก่

 

  • เร่งวินิจฉัย ทำการแยกกักตัว และรักษาผู้ป่วยโดยเร็ว
  • ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ฉีดวัคซีนและแยกกักตัวเช่นกัน

 

โชคดีที่ระยะฟักตัวของฝีดาษลิงกินเวลานานเฉลี่ย 12 วัน (7-21 วัน) ทำให้การฉีดวัคซีนมีเวลาเพียงพอที่จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันขึ้น

 

จึงสามารถฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่สัมผัสเสี่ยงและเกิดติดเชื้อแล้ว ถ้ายังติดเชื้อไม่เกิน 4 วัน วัคซีนก็จะสามารถฉีดป้องกันโรคได้

 

คงจะต้องติดตามสถานการณ์ฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า วัคซีนแบบใหม่จะมีจำนวนการผลิตมากน้อยเพียงใด และวัคซีนแบบเก่าจะสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่อย่างไร

 

ส่วนยารักษา ก็คงจะต้องติดตามรายละเอียดกันต่อไป