มารู้จัก"สิทธิรักษาพยาบาลคนไทย"นอกจากบัตรทอง- ประกันสังคม- ขรก. มีอะไรอีก

12 พ.ค. 2565 | 08:12 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2565 | 15:18 น.
6.3 k

ทำความรู้จัก สิทธิรักษาพยาบาลของคนไทย นอกจาก "สิทธิบัตรทอง - ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ" คนไทยยังมี หลักประกันสุขภาพ อะไรอีกบ้าง และสิทธิหลัก-สิทธิย่อย คืออะไร? หาคำตอบจาก สปสช. ได้ที่นี่

เมื่อพูดถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เชื่อว่าส่วนใหญ่คงจะนึกถึง 3 ระบบหลัก หรือ 3 กองทุนหลัก ได้แก่

 

  • 1.ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)
  • 2.ระบบประกันสังคม 
  • 3.สวัสดิการข้าราชการ

 

ทว่า สิทธิการรักษาพยาบาล หรือสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพฯ ของประเทศไทยนั้น ไม่ได้มีเพียงเท่านี้

 

ข้อมูลจาก Facebook live เรื่อง “มารู้จักสิทธิรักษาพยาบาลของคนไทย” ซึ่งจัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า นอกจากสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการที่หลายคนคุ้นชินแล้ว ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีสิทธิที่คุ้มครองการรักษาที่แยกย่อยไปอีกมาก เช่น

 

  • สิทธิข้าราชการ โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
  • สิทธิข้าราชการของกรุงเทพมหานคร (กทม.)
  • สิทธิรัฐวิสาหกิจ
  • สิทธิครูเอกชน
  • ฯลฯ

สิทธิหลัก - สิทธิรอง คืออะไร

 

ทั้งนี้ คนไทยคนหนึ่งสามารถมีสิทธิการรักษาได้มากกว่าหนึ่งสิทธิ เช่น การมีสิทธิหลักและสิทธิรอง หรือการมีสิทธิหลักในบุคคลเดียวกันสองสิทธิ และการมีสิทธิรองในบุคคลเดียวสองสิทธิ แต่สิทธิที่สามารถใช้ได้จะเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ในแต่ละสิทธิเท่านั้น

 

สำหรับ “สิทธิหลัก” หมายถึง สิทธิที่บุคคลได้รับเมื่อทำงานสังกัดองค์กรนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน อาทิ สิทธิข้าราชการของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นสิทธิที่ให้แก่ข้าราชการที่บรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง  หรือสิทธิประกันสังคมของบริษัทเอกชน ซึ่งมีให้แก่พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัท

 

ขณะที่ “สิทธิรอง” หมายถึง การได้รับสิทธิการรักษาเนื่องจากมีบุคคลในครอบครัวที่ได้รับสิทธิหลักจากองค์กรหนึ่งที่ครอบคลุมถึงบุคคลในครอบครัวด้วย เช่น บุคคลที่ได้รับสิทธิการรักษาข้าราชการจากกรมบัญชีกลาง หากยังไม่ได้สมรส สิทธิจะคุ้มครองการรักษาไปถึงบิดา มารดาและบุคคลในครอบครัว หรือหากสมรสแล้ว สิทธิการรักษาจะครอบคลุมไปถึงคู่สมรส และบุตร โดยลักษณะความครอบคลุมของสิทธิรองนี้จะขึ้นอยู่กับระเบียบการคุ้มครองในแต่ละองค์กร

 

มี 2 สิทธิเลือกใช้สิทธิรักษาอย่างไร

 

กรณีของบุคคลที่มี “สิทธิหลักสองสิทธิ” ตัวอย่างเช่น บุคคลหนึ่งรับข้าราชการ รวมถึงผู้ที่เป็นข้าราชการบำนาญ ซึ่งเบิกค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลจากกรมบัญชีกลาง แต่ได้ไปสมัครงาน หรือเคยเป็นพนักงาน/เจ้าหน้าที่ของบริษัทเอกชน และได้ส่งเงินสมทบกับทางสำนักงานประกันสังคม จะทำให้ได้รับความคุ้มครองการรักษาทั้งจากสิทธิข้าราชการและสิทธิประกันสังคมในคนๆ เดียวกัน ในกรณีนี้ผู้เป็นเจ้าของสิทธิสามารถเลือกใช้สิทธิการรักษาได้

 

ส่วนการมี “สิทธิหลักและสิทธิรองในบุคคลเดียวกัน” อาทิ บุคคลหนึ่งมีสิทธิข้าราชการและคู่สมรสมีสิทธิการรักษาของรัฐวิสาหกิจหรือสิทธิประกันสังคม ฉะนั้นกรณีนี้สิทธิหลักจะเป็นสิทธิข้าราชการอันเกิดจากการเป็นพนักงานในองค์กรของรัฐ ส่วนสิทธิรองมาจากสิทธิของคู่สมรสที่ระเบียบนั้นได้ครอบคลุมการรักษามาด้วยดังที่กล่าวไปแล้ว อย่างไรก็ดีในการเข้ารับการรักษาต้องใช้สิทธิหลักก่อน ส่วนสิทธิรองจะใช้ได้ในส่วนความครอบคลุมที่ต่างกันของทั้งสองสิทธิ เช่น สิทธิหลักมีวงเงินในการเบิกจ่ายมีจำกัดหรือไม่ครอบคลุมเท่าสิทธิรอง ส่วนต่างทีเกิดขึ้นสามารถนำใบเสร็จไปเบิกจ่ายกับสิทธิรองได้

 

สำหรับ “บุคคลที่มีสิทธิรองในคนเดียวกันสองสิทธิ” กล่าวคือ กรณีของบุตรที่บิดาและมารดา มีสิทธิหลักที่ครอบคลุมบุตรด้วยทั้งสองคน ทำให้บุตรที่ยังอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะได้รับสิทธิรองจากบิดาและมารดาสองสิทธิในบุคคลเดียวกัน ทว่าเมื่ออายุครบ 20 ปีและยังไม่ได้เป็นพนักงานหรือลูกจ้างในองค์กรใด จะได้รับสิทธิหลักเป็นสิทธิบัตรทองแทน ตามระเบียบ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545  

 

นอกจากนี้ กรณีที่เดิมมีสิทธิประกันสังคม และไม่ได้ส่งต่อ หรือออกจากงาน สิทธิประกันสังคมจะมีความคุ้มครองภายหลังไม่ได้ส่งเงินสมทบประกันสังคมเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นทางสำนักงานประกันสังคมจะส่งข้อมูลผู้ที่หมดสิทธิกับประกันสังคมให้กับ สปสช. เพื่อดำเนินการให้สิทธิบัตรทองแทน

 

ทั้งนี้ หากสงสัยว่าตนเองมีสิทธิการรักษาอะไรบ้าง สามารถตรวจสอบได้ผ่านการดาวน์โหลดแอพลิเคชัน สปสช. หรือแอดไลน์ @nhso หรือโทรมาที่ 1330 กด 2 บอกข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน จากนั้นกดเครื่องหมาย # ซึ่งสามารถตรวจสอบสิทธิได้ทั้งตัวเองและบุคคลในครอบครัว รวมถึงลงทะเบียนหน่วยบริการและย้ายหน่วยบริการได้ในส่วนของสิทธิบัตรทอง หรือติดต่อสำนักงานประกันสังคม โทร 1506 และกรมบัญชีกลาง 0-2270-6400

 

อ้างอิงที่มา : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ , The Coverage