กรมอุตุฯคาดฤดูฝนปี 65 ไทยเตรียมรับมือพายุ 1-2 ลูก

09 พ.ค. 2565 | 16:19 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2565 | 23:26 น.
9.4 k

กรมอุตุนิยมวิทยา เตรียมประกาศเข้าสู่ฤดูฝน พร้อมคาดการณ์ปี 65 ไทยรับมือพายุ 1-2 ลูก ตรวจสอบข้อมูลการพยากรณ์ฝนและแผนการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมชลประทานที่นี่

วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 กรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานได้ประชุมร่วมกันในหัวข้อ “สรุปการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง เตรียมรับมือฤดูฝน” ปี 2565 โดยปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะมีพายุเข้ามาประเทศไทย 1-2 ลูก โดยพายุหมุนเขตร้อนลูกที่ 1 จะเข้าผ่านเข้ามายังประเทศเวียดนาม ลาว และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของประเทศไทย ราวๆ เดือนกรกฎาคม – กลางตุลาคม

 

ส่วนพายุหมุนเขตร้อนลูกที่ 2 จะผ่านเข้ามาทางทะเลจีนใต้ผ่านปลายแหลมญวนและมีภาคใต้ของประเทศไทยราวๆ กลางเดือนตุลาคม - กลางเดือนธันวาคม ซึ่งมีอิทธิพลต่อสภาพอากาศภาคใต้ของประเทศไทย และก็เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝนของภาคใต้
 

ดร. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า สภาพอากาศและการคาดการณ์ฤดูฝน ปี 2565 มีลักษณะอากาศแบ่งออกเป็นดังนี้

 

พยากรณ์อากาศช่วงเดือนพฤษภาคม 2565

ในช่วงเดือนพฤษภาคม จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลอันดามัน แล้วมีโอกาสพัฒนาแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่นและพายุไซโคลนแล้วมีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าใกล้ด้านตะวันตกของไทย ลมที่พัดพาความชื้นจากทะเลอันดามันและอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศได้เปลี่ยนเป็นลมทิศตะวันตกเฉียงใต้ 

 

ประกอบกับมีร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องฝนพาดผ่านตอนกลางของประเทศ และมีรายงานสภาวะฝนตกหนัก (ปริมาณฝน 24ชั่วโมง มากกว่า 35.1มิลลิเมตร ขึ้นไป) ติดต่อกันอย่างน้อย 3วันขึ้นไป บริเวณสถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยา ทางด้านภาคใต้ฝั่งตะวันตก

 

โดยผลการวิเคราะห์เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าว  ทางกรมอุตุฯจึงจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย ในปีนี้ “ฤดูฝนของประเทศไทย” ในช่วงปลายสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งจะทำให้บริเวณด้านตะวันตกของประเทศบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกรวมทั้งภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น กลุ่มฝนมีการกระจายตัวดีอย่างสม่ำเสมอทั่วประเทศ 
 

ในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2565

เดือนมิถุนายนและกรกฏาคมมักจะมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก และ เคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทีพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น จะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทางด้านภาคใต้ฝั่งตะวันตกและบริเวณด้านรับมรสุมโดยเฉพาะภาคตะวันออก 

 

ส่วนในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ส่วนใหญ่มักจะเกิดสภาวะฝนลดลงหรือฝนทิ้งช่วง โดยปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงอย่างมาก และอาจก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำทั้งทางด้านการเกษตร อุสาหกรรมต่างๆ ในหลายพื้นที่ 

 

โดยเฉพาะพื้นทีแล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทานปริมาณฝนจะเริ่มตกเพิ่มมากขึ้นหลังจากกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปถึงราวๆ กลางเดือนตุลาคม พร้อมกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้แล้วโอกาสพัฒนาเป็นพายุดีเปรสชั่น โซนร้อน และไต้ฝุ่นตามลำดับ มีโอกาสเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตกเข้ามาอิทธิพลต่อประเทศไทย

 

ขณะที่กรมชลประทาน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งที่ผ่านมาเป็นไปตามแผน และพร้อมสั่งชลประทานทั่วประเทศเตรียมรับมือฤดูฝนปี 2565 ตามแบบจำลองบรรยากาศเชิงตัวเลขในการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุฯรวมถึงการเฝ้าระวัง และวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีเกิดความยั่งยืนในการบริหารตลอดช่วงฤดู