"วันแรงงาน"ลูกจ้างควรรู้ ค่าแรงวันหยุด ล่วงเวลา ต้องได้รับเท่าไรอย่างไร

01 พ.ค. 2565 | 10:27 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2565 | 17:28 น.
45.1 k

"วันแรงงานแห่งชาติ 2565" สิทธิประโยชน์ลูกจ้างควรรู้ ค่าแรงวันหยุด ค่าล่วงเวลา (OT) ต้องได้รับกี่เท่าของอัตราค่าจ้าง มัดรวมคำตอบให้แล้วที่นี่

วันแรงงานแห่งชาติ 2565  สิทธิประโยชน์ของลูกจ้างควรรู้ !  การทำงานนอกเวลาทำงานปกติ ลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างอย่างไร ทำความเข้าใจเรื่องอัตราค่าแรงในวันหยุด และค่าล่วงเวลา (OT) ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  ได้ระบุถึงข้อกฎหมายแรงงานรายละเอียดดังนี้

 

1.กรณีลูกจ้างทำงานในวันหยุด 

(วันหยุดประจำสัปดาห์, วันหยุดตามประเพณี ,วันหยุดพักผ่อนประจำปี )  

 

ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้าง แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

 

1.ลูกจ้างรายเดือน หรือลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด จะได้รับค่าตอบแทนการทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้างตามชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด หรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

 

2.ลูกจ้างรายวัน หรือลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด  จะได้รับค่าตอบแทนการทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 2 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด  หรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

2.กรณีลูกจ้างทำล่วงเวลา(OT)ในวันทำงานปกติ

 

กรณีพนักงานทำงานเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงาน (OT)  นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ไม่น้อยกว่า 1.5 ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่า 1.5 ของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน

 

3.กรณีลูกจ้างทำล่วงเวลา(OT )ในวันหยุด

(วันหยุดประจำสัปดาห์ / วันหยุดตามประเพณี / วันหยุดนักขัตฤกษ์)

 

กรณีพนักงานทำงานในวันหยุดเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตรา 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ  หรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับ ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย 

 

ตัวอย่างเช่น  เวลางานปกติในวันหยุดกำหนดให้พนักงานมาทำงานเวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น. แต่พนักงานอาจจำเป็นต้องทำงานให้แล้วเสร็จ จึงทำงานจนถึงเวลา 20.00 น. ลักษณะแบบนี้เข้าข่ายที่นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลา 3 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง

 

ที่มา : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)